“ให้กราบใครก็ได้ ถ้าเด็กไทยได้อะไรจากปฏิรูป” มีชัย ส่งสัญญาณถึงใคร?

การเมือง
1 มี.ค. 61
20:17
1,532
Logo Thai PBS
“ให้กราบใครก็ได้ ถ้าเด็กไทยได้อะไรจากปฏิรูป” มีชัย ส่งสัญญาณถึงใคร?
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ใน “รายการตอบโจทย์”ไทยพีบีเอส ระบุถึงการปฏิรูปการศึกษา จะสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าเอาจริงกับเรื่องการปฏิรูป

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ใน “รายการตอบโจทย์” ไทยพีบีเอส (ออกอากาศวันที่ 27 กุมภาพันธ์) หลังร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ฉบับผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ มีมติตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณที่ให้ตัด “เงินอุดหนุนร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายปกติด้านการศึกษา” ซึ่งเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมาย และให้เปลี่ยนเป็น “เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว” โดยขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.แล้วนั้น

นายมีชัยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาดังกล่าว จะส่งผลต่อความมั่นใจของคนทำงานว่า จะมีเงินเพียงพอในการทำงานจนบรรลุวัตถุประสงค์การปฏิรูปการศึกษาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ เพราะแม้ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการจะได้ทำงานในเรื่องมาตลอด แต่ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้

ถามว่ากระทรวงศึกษาธิการทำได้ไหม คำตอบก็คือ ก็ทำมา 20 กว่าปีแล้ว ได้อย่างที่เห็น ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญจึงกำหนดโครงสร้างขึ้นมาใหม่ว่า หาคนที่เป็นอิสระมาทำเรื่องนี้ เขาก็ไปได้ความว่า สิ่งแรกที่จะต้องก็คือ ตั้งกองทุนนี้ขึ้นก่อนเพื่อใช้กองทุนนี้เป็นพื้นฐานในการไปศึกษาอีกที เพราะเราให้เวลาไว้ 5 ปี เราก็หวังว่าภายในปีที่ 2 ที่ 3 เขาจะเริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้ แล้วเริ่มเอาออกมา ค่อยๆ ทดลองใช้ แล้วมันจะมีผลกระทบในทางที่ดีกับระบบการศึกษาทั้งระบบ

 

 

นายมีชัย กล่าวว่า ข้อเสนอให้มีเงินอุดหนุนร้อยละ 5 นั้น มาจากการศึกษาวิจัยว่าอะไรคือเส้นทางเดินสู่การปฏิรูปการศึกษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับคนไทยแล้ว ในขณะที่การทำงานของกองทุนก็จะค่อยๆ ขยายออกไป และเมื่อทดลองว่าวิธีการดังกล่าวได้ผลจริง ก็จะส่งต่อให้หน่วยงานปกติไปทำ แต่ที่ผ่านมาระบบราชการทำให้หน่วยงานมีความรู้สึกว่า อำนาจเป็นของกรมตัวเอง แตะต้องไม่ได้ ถ้ามีใครแตะต้องก็จะลุกขึ้นมาฟาดฟัน โดยไม่คำนึงว่า สิ่งนั้นจะดีกับประชาชนหรือไม่

เขาอาจจะเข้าใจว่าไปแย่งอำนาจ แต่ความจริงมันไม่ใช่อำนาจ แต่นี่คือหน้าที่ในการไปศึกษาว่า อย่างไรมันจึงจะดี แล้วศึกษาเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนใหม่ ต้องการคนรุ่นใหม่ คนที่เป็นอิสระ คนที่ไม่อยู่ใต้อาณัติระบบราชการที่จะต้องทำตามผู้บังคับบัญชาสั่ง คนที่คิดอะไรใหม่ๆ ปล่อยให้เขาคิดไป ได้บ้าง เสียบ้าง แต่ในที่สุด เขาจะได้แนวความคิดใหม่ๆ ออกมา แล้วเอามาทดลอง

ส่วนคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาดังกล่าวจะกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำงานหรือไม่นั้น มองว่าอาจจะกระทบอยู่บ้าง แต่เมื่อสำนักงบประมาณบอกว่า สามารถจัดงบประมาณให้ได้ตามแผนงานที่จะขอไปแม้ตัวเลขงบประมาณอาจจะเกินร้อยละ 5 ตามที่กำหนดไว้ตอนแรก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

เมื่อไม่สามารถกำหนดวงเงินตายตัวอย่างนั้นได้ ทางเลี่ยงทางเดียวก็คือ ทางออกทางนี้ เราก็หวังว่า สนช.จะเข้าใจ และไม่ไปทำให้มันแย่ไปกว่านี้

 

นายมีชัยกล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าเอาจริงกับเรื่องการปฏิรูปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องยอมรับว่าการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงที่บางทีอาจจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่หากเราไม่ปฏิรูปตอนนี้ ก็อาจจะเดินตามหลังคนอื่นไม่ทัน ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับร่างกฎหมายนี้ ทำให้ได้บทเรียนว่า การปฏิรูปไม่ใช่ของง่าย และต้องการการตัดสินใจที่มั่งคงเด็ดขาดของผู้รับผิดชอบในการที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากมองย้อนกลับไป ปัจจัยที่ทำให้การปฏิรูปไม่เกิดผล ก็มาจากวิธีคิดของระบบราชการเอง

ถ้าไม่ปฏิรูประบบราชการ ไม่ว่าจะปฏิรูปอะไร ก็จะติดขัดหมด เพราะว่าพอเราจะเริ่มปฏิรูป เขาจะถามว่า แล้วเขาจะได้ตำแหน่งอะไรสูงขึ้น ผมกำลังนั่งนึกอยู่ในใจว่า จะให้ไปกราบใครก็ได้ ขอสักครั้งได้ไหม ขอให้คิดว่าปฏิรูปแล้ว เด็กไทยได้อะไรขึ้น เลิกถามว่า แล้วข้าราชการจะได้ตำแหน่งอะไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง