“คดีเปรมชัย”ปลุกพลังสายตรวจโซเชียลปกป้องสัตว์ป่า

สิ่งแวดล้อม
4 มี.ค. 61
10:10
1,377
Logo Thai PBS
“คดีเปรมชัย”ปลุกพลังสายตรวจโซเชียลปกป้องสัตว์ป่า
กรมอุทยาน ร่วมกับ 10 องค์กรอนุรักษ์ ปลุกพลังคนไทยร่วมเป็น “สายตรวจโซเชียล”ปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน หลังพบคดีเปรมชัย ช่วยให้เกิดกระแสบวกด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า พบสัตว์ป่ายอดนิยมเลี้ยง 5 ชนิดตัวนากมาแรง ชวนติด.#WildWatchTH

วันนี้ (4 มี.ค.2561) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับ 10 องค์กรการอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดตัวสื่อรณรงค์บนเฟซบุ๊กภายใต้แนวคิด “ร่วมปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน” โดยชวนคนไทยทุกคนร่วมกันทำหน้าที่สายตรวจโซเชียล เป็นหูเป็นตา และแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสายด่วนกรมอุทยานฯ 1362 

การณรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียในครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นจากกรณีที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย และพวกตกเป็นผู้ต้องหาลักลอบล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจ และหันมาสนใจในประเด็นการปกป้องสัตว์ป่าที่เป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศ มากยิ่งขึ้น และต้องการลดการซื้อขายสัตว์ป่า ซึ่งคนเลี้ยงบางคนอาจไม่เจตนา และเลี้ยงเพราะเห็นว่าน่ารัก และไม่รู้ข้อกฎหมาย

 

 

5 สัตว์ป่า”ยอดฮิต” นาก-นางอาย-นกเงือก

ตัวแทนจากชุดเหยี่ยวดง บอกว่า ขณะนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าสัตว์ป่า 5-6 ชนิดที่มักตกเป็นเหยื่อของการค้าและครอบครองโดยผิดกฎหมายมากที่สุด คือ เสือดาว นาก นกเงือก เต่า นางอาย และซากสัตว์ป่า โดยเฉพาะตัวนาก กำลังเป็นที่นิยมมากในกลุ่มวัยรุ่น พบว่ามีขายผ่านโซเชียล ราคาขายตัวละ 3,000-5,000 บาท และมักถูกจับจากธรรมชาติคราวละเป็นครอกๆ จากแหล่งน้ำพบในภาคใต้ และนิยมเลี้ยงตัวเล็กๆแต่โอกาสรอดยากถ้าเลี้ยงไม่ถูกวิธี

ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 ชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ หรือทีมเหยี่ยวดง ได้จับกุมการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า จำนวน 40 คดี ผู้ต้องหาจำนวน 41 คน ยึดสัตว์ป่าจำนวน 1,161 ตัว ซากของสัตว์ป่า จำนวน 255ซาก และผลิตภัณฑ์จำนวน 360 ชิ้น 

 

 

สำหรับการเปิดช่องทางสายตรวจโซเชียล มีเพจกลุ่มบนเฟซบุ๊ก ทั้งที่เป็นแบบเปิดสาธารณะ และแบบกลุ่มปิด คือช่องทางบนโลกออนไลน์ที่สามารถพบเห็นการลักลอบล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างเปิดเผย โดยคนไทยบางส่วนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าสัตว์ที่ตัวเองได้มา หรือซื้อหามานั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชวนติดแฮทแท็ก #WildWatchTH

สำหรับสื่อรณรงค์ที่ได้เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.นี้ เชิญชวนให้ช่วยกันสืบ และจับภาพหน้าจอที่แสดงถึงการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงรายละเอียดผู้ค้า และแจ้งมาที่สายด่วน 1362 , เฟซบุ๊ก สายด่วน 1362 @1362DNP หรือ เฟซบุ๊ก บก.ปทส. Greencop - Thailand @NEDPolice และเฟซบุ๊ก ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง @DNP.WILDHAWK

 

 

ทั้งนี้การเป็นสายสืบโซเชียลอย่างปลอดภัยนั้น มีข้อควรระวังดังนี้ 1.อย่าถาม ทัก แชท คอมเม้นท์ หรือขอเป็นเพื่อนกับผู้กระทำผิด 2.อย่าทำให้ผู้ลักลอบค้า ผู้ซื้อ หรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าสงสัยพฤติกรรมของคุณ 3.อย่าล่อซื้อเพื่อเก็บหลักฐาน เพราะถือเป็นการสนับสนุนการค้าและคุณอาจถูกดำเนินคดี 4.อย่ากระทำการใดๆ ที่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง

ซึ่งการรณรงค์ครั้งนี้มี 10 องค์กรอนุรักษ์ ได้แก่ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยมูลนิธิฟรีแลนด์, มูลนิธิโลกสีเขียว องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ มูลนิธิรักสัตว์ป่า กลุ่มเนเจอร์ เพลิน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ทราฟฟิค องค์กรไวล์ดเอด และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง