ดำเนินคดีเพจละเมิดลิขสิทธิ์เผยแพร่ E-Book "บุพเพสันนิวาส"

สังคม
6 มี.ค. 61
10:59
8,549
Logo Thai PBS
ดำเนินคดีเพจละเมิดลิขสิทธิ์เผยแพร่ E-Book "บุพเพสันนิวาส"
ผู้จัดพิมพ์นิยาย "บุพเพสันนิวาส" แจ้งความกับ ปอศ.เอาผิดเพจเฟซบุ๊กรายหนึ่งและผู้แชร์ ฐานละเมิดลิขสิทธิ์เผยแพร่เนื้อหานิยายบุพเพสันนิวาสทั้งเล่มในลักษณะ E-Book ด้านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุพร้อมช่วยเหลือด้านกฎหมายหากมีการร้องเรียน

หลังเพจเฟซบุ๊กรายหนึ่งนำหนังสือเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นลักษณะหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book แชร์ไว้ที่หน้าเพจเพื่อให้ผู้ติดตามได้อ่าน พร้อมทั้งให้ไอดีไลน์สำหรับที่ผู้ต้องการดาวน์โหลดไว้อ่านด้วย

น.ส.กวิยา เนาวประทีป บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์แฮปปี้ บานานา ผู้พิมพ์หนังสือนวนิยาย "บุพเพสันนิวาส" เข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. เพื่อเอาผิดเพจฐานละเมิดลิขสิทธิ์เผยแพร่เนื้อหานวนิยายบุพเพสันนิวาสทั้งเล่ม รวมถึงคนที่แชร์ด้วย พร้อมเปิดเผยว่า อยากทำให้เป็นคดีตัวอย่าง เพราะที่ผ่านมางานเกี่ยวกับหนังสือถูกละเมิดลิขสิทธิ์บ่อยครั้ง และเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฉกฉวยโอกาสและแสวงหาผลประโยชน์

ส่วนการเรียกค่าเสียหายจะต้องพูดคุยกับเจ้าของนวนิยายอีกครั้ง เบื้องต้น ทนายความระบุว่า การเรียกค่าเสียหายขึ้นอยู่กับยอดแชร์ คูณด้วยราคาหนังสือปกติ คูณเพิ่มอีก 2 เท่า ซึ่งจากกรณีนี้พบว่ามีการแชร์เพจดังกล่าวไปถึง 60,000 ครั้ง

ขณะที่ น.ส.จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของนามปากกา "รอมแพง" ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า จะเอาผิดกับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ให้ถึงที่สุด เบื้องต้นได้มอบอำนาจให้กับทนายความและสำนักพิมพ์เป็นผู้ดำเนินการ

ด้าน น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าทุกข์ หรือมีผู้มาร้องเรียนในกรณีดังกล่าว ทำให้ทางกระทรวงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้ แต่กระทรวงก็มีหน้าที่ในการติดตามเรื่องดังกล่าว โดยต้องดูเจตนาของเรื่องนี้และดูว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการเจรจาหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นลักษณะเชิงธุรกิจ มีการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านอี-บุ๊ค ซึ่งถ้าไม่มีผลกระทบ ไม่มีผู้มาร้องเรียน แสดงตัวตนความเป็นเจ้าของ ทางกระทรวงก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้

สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ น.ส.ดวงหทัย เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการติดตามเรื่องดังกล่าวคาดว่าจะเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถือเป็นการนำเอามาทำซ้ำ การคัดลอกผลงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง