สัตวแพทย์จุฬาฯ ผลิตหัวสุนัขจำลองสอนนิสิต

สังคม
8 มี.ค. 61
07:57
761
Logo Thai PBS
สัตวแพทย์จุฬาฯ ผลิตหัวสุนัขจำลองสอนนิสิต
อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นและผลิตหัวสุนัขจำลองจากวัสดุเหลือใช้ แก้ปัญหาขาดแคลนสัตว์ที่ใช้ในการเรียนการสอนและยังทำให้นิสิตสามารถนำไปใช้เรียนรู้ได้ตลอดเวลา

ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตหัวสุนัขจำลองจากวัสดุเหลือใช้ในคณะ เช่น กระดาษ กล่องลัง แกนทิชชู่ และกล่องนม โดยใช้เทคนิคเปเปอร์มาเช่ หรือการนำกระดาษมาผสมกับกาวหรือทากาว เพื่อทำให้เป็นรูปแบบต่างๆ โดยสาเหตุที่ต้องคิดผลิตหัวสุนัขจำลองขึ้นมา เพราะเวลาที่นิสิตสัตวแพทย์เรียนรู้จากร่างสัตว์จริง พบว่ามองเห็นตำแหน่งอวัยวะที่สำคัญไม่ชัดเจน ประกอบกับขาดแคลนสัตว์ที่จะมาเป็นอาจารย์ใหญ่ให้นิสิตทำการศึกษา ซึ่งหัวสุนัขจำลองจะทำให้นิสิตเห็นตำแหน่งอวัยวะต่างๆ ชัดเจน สะอาด ปลอดภัย ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์และนำไปเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

 

แม้จะมีแบบจำลองแต่ก็ยังต้องการร่างอาจารย์ใหญ่ที่เป็นสัตว์ทั้งสุนัข แมว วัว หมู ม้า แกะ ไก่ และสัตว์แปลกที่คนนำมาเลี้ยง เพื่อให้นิสิตสัตวแพทย์ทำการศึกษาจากของจริง ซึ่งจะช่วยพัฒนาและผลิตนิสิตสัตวแพทย์ที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถบริจาคร่างสัตว์ที่ตายแล้วได้ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่างสัตว์ที่จะบริจาคเพื่อการศึกษาต้องไม่เป็นโรค ไม่ประสบอุบัติเหตุมาก่อน เพราะทำให้อวัยวะไม่ครบและเก็บรักษายาก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง