ทีมนักวิจัยร้องกองปราบฯ ปมนายพลแจ้งความเท็จโครงการหน้ากากป้องกันพิษ

อาชญากรรม
15 มี.ค. 61
13:56
2,894
Logo Thai PBS
ทีมนักวิจัยร้องกองปราบฯ ปมนายพลแจ้งความเท็จโครงการหน้ากากป้องกันพิษ
ทีมนักวิจัยแจ้งความกองปราบฯ ร้อง "นายพล" แจ้งความเท็จ ย้ำไม่เคยใช้เอกสารปลอมในโครงการจัดหาหน้ากากป้องกันสารพิษ

วันนี้ (15 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.สุนทร สิทธิสกุลเจริญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ผศ.กิตติภัฏ รัตนจันทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ผศ.วัชระ ลายลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นคณะนักวิจัยและอาจารย์ โครงการวิจัยและพัฒนาการหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร เพื่อใช้ภายในประเทศ เดินทางมาแจ้งความที่กองปราบปราม โดยมีนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ เดินทางมาด้วย

 

 

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เปิดเผยว่า วันนี้ แจ้งความเอาผิดทหาร 2 นาย ได้แก่ พล.ต.ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการ กองทัพบก และ พ.อ.ก้อง ไชยณรงค์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ข้อหาแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรรโชกทรัพย์

 

 

สำหรับการร้องเรียนกองปราบครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2561 พล.ต.ศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ได้แจ้งความดำเนินคดีกับคณะวิจัย รวมถึงข้าราชการทหารยศนายพันอีก 2 นาย ซึ่งสังกัดสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบกและกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกว่าปลอมแปลงเอกสารงานวิจัย หลังจากกลุ่ม รศ.วีรชัย รับผิดชอบทำวิจัยหน้ากากยางพารา ในโครงการวิจัยและพัฒนาการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร เพื่อใช้ภายในประเทศที่ทางกองทัพบกดำเนินการ

 

 

รศ.วีรชัย กล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าทีมวิจัยปลอมแปลงเอกสารงานวิจัย ไม่เป็นความจริง ทีมวิจัยได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประมาณ 3.8 ล้านบาท มีระยะเวลาการดำเนินการรวม 18 เดือน เริ่มตั้งแต่ วันที่ 2 ก.พ.2560 กระบวนการทดสอบหน้ากากยางพารา เริ่มต้นหลังจากนั้น มีการส่งทดสอบหน่วยงานที่สาธารณรัฐเช็ก 1 ใน 5 ประเทศ ที่มีสถาบันการทดสอบที่กองทัพบกยอมรับ ซึ่งได้รับรองมาและส่งมอบให้กับกองทัพเรียบร้อย และทีมนักวิจัยส่งมอบงานวิจัยครบถ้วนให้คณะทำงานของกองทัพบก เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2561 แต่หลังจากนั้น วันที่ 9 ก.พ.61 กลับพบว่า พล.อ.ศักดิ์สิทธิ์ ได้แจ้งความคณะวิจัย โดยที่ไม่มีการสอบถามใดๆ และคณะวิจัยมาทราบเรื่องเมื่อปรากฏเป็นข่าวในสังคมแล้ว และขณะนี้เกิดความเสียหายมาก เมื่อทราบว่ามีการทำหนังสือแจ้งถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเพื่อให้ตั้งกรรมการสอบวินัยคณะทำงาน นับเป็นความเสียหายและเสื่อมเสียกับคณะทำงานที่เป็นนักวิชาการ นักวิจัยมาก

 

 

"ผมจำเป็นต้องแจ้งความ เนื่องจากเรื่องปลอมเอกสารงานวิจัย ไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมา งานวิจัยที่ทำพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถผลิตหน้ากากป้องกันแก๊สพิษได้โดยการผสมสูตร ซึ่งเมื่อคณะวิจัยทำได้ ถ้าเสนอกองทัพแล้ว แล้วกองทัพไม่เอา ไม่ต้องการ การวิจัยนั้นก็ควรจะจบไป แต่ไม่ใช่การแจ้งความของทหารบางนาย มากล่าวหาว่าเราปลอมเอกสาร ซึ่งเอกสารใบรับรองต่างๆ ได้มาก็ส่งให้กับทางกองทัพเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด" รศ.วีรชัย กล่าว

 

 

ด้านนายอนันต์ชัย ทนายความ ระบุโดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการทางคณะวิจัย ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่การแจ้งความของทหารระดับนายพล ที่เกิดขี้นกับกลุ่มนักวิจัย ทำให้ขณะนี้นักวิจัยเกิดความหวาดกลัว

สำหรับโครงการหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร เมื่อวิจัยเสร็จแล้ว พบว่ามีต้นทุนอยู่ที่ ชิ้นละ 8,000 บาท แต่หากนำเข้าจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 20,000 บาท ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก จึงขอถามทางกองทัพบกว่าเกิดอะไรขึ้น จึงแจ้งความกับนักวิจัยที่ทุ่มเททำงานวิจัย และเมื่อส่งมอบผลให้กลับโดนแจ้งความว่าปลอมเอกสาร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงผลประโยชน์โครงการหน้ากากป้องกันสารพิษสุดท้ายแล้ว ใครได้ประโยชน์ หากมีการจัดซื้อหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่นักวิจัยไทย ทำสำเร็จแล้ว ได้มาตรฐานสากล และมีการรองรับจากต่างประเทศมาแล้ว

 

 

แต่ภายหลังจากการตรวจสอบในเอกสารงานวิจัยพบว่ามีใบรับรองมาตรฐานสากลงานวิจัย 1 ฉบับที่สงสัยว่าอาจเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากมีการตรวจสอบในทางลับกับสถาบันที่ถูกกล่าวถึงในเอกสารที่สาธารณรัฐเช็ก ถูกปฏิเสธการรับรองงานวิจัยชิ้นดังกล่าวตามที่ระบุในเอกสาร

ดังนั้น หากโครงการดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตอย่างเต็มตัว จะต้องใช้ทุนในการผลิตและวิจัยเพิ่มเติมอีกรวมกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทัพได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์หน้ากากป้องกันสารพิษที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน และอาจเป็นอันตรายต่อทหารที่ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่จริง จึงจำเป็นต้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้กองปราบปรามตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยดังกล่าว หากพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารจริง จะประสานไปยัง สกอ. ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าของงบประมาณวิจัยเข้าแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมกับทีมนักวิจัยดังกล่าวด้วย

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง