"คนไร้บ้าน" หน้าใหม่มากกว่า 1 ใน 3 เป็นวัยทำงาน

สังคม
21 มี.ค. 61
12:35
844
Logo Thai PBS
"คนไร้บ้าน" หน้าใหม่มากกว่า 1 ใน 3 เป็นวัยทำงาน
สังคมไทยยังมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เกิดขึ้น มากกว่า 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้เป็นวัยทำงาน ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสนับร้อยล้านบาทต่อปี ด้านเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กังวลถึงการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจนส่งผลให้คนไร้บ้านมีโรคประจำตัวจำนวนมาก

วันนี้ (21 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ประเทศไทยมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมี 1,307 คน เทศบาลนครขอนแก่น 136 คน และเทศบาลนครเชียงใหม่ 75 คน จำนวนนี้ยังไม่นับรวมกับต่างจังหวัด


หัวหน้าโครงการวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น กล่าวว่า จะต้องหาแนวทางแก้ปัญหาคนไร้บ้านหน้าใหม่ เพราะจากผลการวิจัยพบว่า ประชาชนที่อยู่ในสถานะคนไร้บ้าน 1-5 ปี มีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่ระบบคนมีบ้านได้อีกครั้ง และหากรัฐบาลยังไม่พัฒนาศักยภาพแรงงานของคนไร้บ้าน ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและศักยภาพแรงงานมากถึง 116 ล้านบาทต่อปี และจะสูญเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก 


ขณะที่ภาคีเครือข่าย ย้ำว่า การผลักดันคนไร้บ้านหน้าใหม่เข้าสู่ระบบไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องรายได้ ที่อยู่อาศัย รัฐบาลจึงต้องผลักดันนโยบายหลายอย่าง เช่น กองทุนการรักษาพยาบาล เพราะคนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้มีคนไร้บ้านมากถึงร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพ


นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพของคนไร้บ้าน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้คนไร้บ้านมีโรคประจำตัว หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต หอบหืดภูมิแพ้ โรคหัวใจ ร้อยละ 51 มีปัญหาสุขภาพทางจิต และปัญหาสุขภาพช่องปาก ร้อยละ70 ทั้งนี้ยังพบว่าร้อยละ 35 ของคนไร้บ้านหรือประมาณ 450 คน เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง