ตามติดชีวิตเด็กสอบเข้า ป.1 กับอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น

สังคม
21 มี.ค. 61
14:42
8,483
Logo Thai PBS
ตามติดชีวิตเด็กสอบเข้า ป.1 กับอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น
ปัจจุบัน เด็กนักเรียนในระดับอนุบาล หรือประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนด้วยอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมที่เด็กต้องสอบแข่งขันแต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

วันนี้ (21 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสติดตามบรรยากาศการสอบคัดเลือกเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และอนุบาล 3 ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยหลายแห่ง พบว่า มีอัตราการแข่งขันสูง ด้วยสัดส่วนของจำนวนเด็กที่แต่ละโรงเรียนประกาศรับ กับจำนวนเด็กที่มาสมัครสอบมีอัตราค่อนข้างสูง ถึง 1:30 ทำให้ผู้ปกครองหลายคนเตรียมพร้อมให้กับลูกหลานล่วงหน้าไม่ต่ำกว่าปี และหลายครอบครัวตัดสินใจวิ่งรอกสอบในหลายสนาม


สำหรับบรรยากาศตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) การสอบคัดเลือก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2561 ผู้ปกครองพาบุตรหลานเดินทางมาเตรียมตัวสอบตั้งแต่เช้า ซึ่งมีจำนวนเด็กสมัครสอบประมาณ 3,000 คน แต่โรงเรียนเปิดรับเพียง 100 คนเท่านั้น


เศรษฐา ธรรมาชีพเจริญ ผู้ปกครอง บอกว่า การสอบมีการแข่งขันสูง จึงเตรียมพร้อมด้วยการส่งลูกเรียนพิเศษล่วงหน้ามาเป็นปี โดยวิชาที่เรียนส่วนใหญ่ จะเน้นตามที่โรงเรียนเปิดสอบ ซึ่งเกี่ยวกับความถนัดทางเชาว์ปัญญา หรือไอคิว นอกจากสนามสอบ ป.1 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว


ขณะที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ก็มีการสอบเข้าอนุบาล 3 เช่นกัน ซึ่งมีนักเรียนชั้นอนุบาลและผู้ปกครอง เดินทางมาถึงโรงเรียน ตั้งแต่เช้ามืด หลายครอบครัวคาดหวังกับการสอบครั้งนี้ไม่ต่างกัน โดยมีเด็กมาสมัครสอบมากกว่า 2,000 คน แต่รับได้เพียง 100 คนเท่านั้น ธีราภรณ์ อนันตวงษ์ ผู้ปกคอรง บอกกับทีมข่าวว่า ไม่รู้สึกกดดันหากลูกสอบไม่ผ่าน เพราะหวังให้ลูกได้ประสบการณ์ และท้าทายตัวเอง


ทั้งนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กำลังมีการยกร่างกฎหมายการปฐมวัยแห่งชาติ โดยหลักการสำคัญที่จะมีการปฎิรูป คือ การห้ามสอบคัดเลือกในระดับปฐมวัย ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนไปถึงระดับชั้น ป.2 แต่ข้อเสนอนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงในหลายประเด็น


โดยเฉพาะวิธีการแบบใหม่ที่จะนำมาใช้แทนการสอบแข่งขันแบบเดิมแต่คณะกรรมการที่ยกร่าง ยืนยันว่า หลักการนี้เจตนา คือ ต้องการปกป้องเด็กปฐมวัยให้ได้รับการคุ้มครอง และสนับสนุนส่งเสริมให้เติบโตตามพัฒนาการ ด้วยระบบการศึกษาที่หลากหลาย โดยจะนำร่างที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไปรับฟังความเห็นอีกครั้งก่อนเสนอครม.ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง