คพ.ขู่จำกัดรถเข้าเมืองกรุง หากฝุ่น PM2.5 ยังวิกฤต

สิ่งแวดล้อม
23 มี.ค. 61
16:56
456
Logo Thai PBS
คพ.ขู่จำกัดรถเข้าเมืองกรุง หากฝุ่น PM2.5 ยังวิกฤต
คพ.ขู่จำกัดรถยนต์ส่วนบุคคลเข้า กทม. หากฝุ่น PM2.5 ยังวิกฤต กรมควบคุมโรคชี้ค่าฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ส่งผลให้ชีวิตคนสั้นลงอย่างน้อย 1 ปี เตรียมมอนิเตอร์ค่าฝุ่นละอองเชื่อมฐานข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 4 โรคเฝ้าระวัง เพื่อรักษาผู้ป่วยได้ตรงกลุ่ม

วันนี้ (23 มี.ค.2561) ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ในปี 2559-2560 สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นเกินมาตรฐานในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. แต่ในปี 2561 ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานตั้งแต่เดือน ม.ค. แม้สถิติค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีตั้งแต่ปี 2556-2560 จะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 มีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 35 มคก.ต่อลบ.ม. ปี 2557 อยู่ที่ 32 มคก.ต่อลบ.ม. ปี 2558 29 มคก.ต่อลบ.ม. ปี 2559 อยู่ที่ 29 มคก.ต่อลบ.ม. และปี 2560 อยู่ที่ 26 มคก.ต่อลบ.ม.


ดร.สุพัฒน์ กล่าวต่อว่า แม้ค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังเกินค่ามาตรฐานรายปีที่กำหนดไว้ที่ 25 มคก.ต่อลบ.ม.อยู่ จึงนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยควรมองเป็นอุบัติภัยมลพิษทางอากาศ และควรมีมาตรการแก้ไขในสถานการณ์อุบัติภัยไม่ใช่มาตรการในสถานการณ์ปกติ ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาได้จำเป็นต้องรู้จักสาเหตุของปัญหา คือ ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจากดีเซลร้อยละ 52 การเผาไหม้ ร้อยละ 35 ฝุ่นที่เกิดขึ้นภายในอากาศ ร้อยละ 7 และอื่นๆ อีก ร้อยละ 6 ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้ดีเซลเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งขนาดฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กมากจนสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรแก้ไข

แพทย์ชี้ค่าฝุ่นเพิ่ม 10% ชีวิตสั้นลง 1 ปี

ด้าน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า สำหรับสถิติที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยนอกเข้ารับการรักษา 4 โรคเฝ้าระวัง เฉลี่ยเท่าเดิม โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. ข้อมูลไม่สามารถบอกได้ว่าค่าฝุ่นละอองที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ เนื่องจากเป็นข้อมูลสถานการณ์ในระยะสั้น และยังไม่ได้เชื่อมโยงพื้นที่ที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเทียบกับฐานข้อมูลของผู้ป่วยใน 4 โรคเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคที่เกิดจากผื่นแพ้จากผิวหนัง โรคที่เกี่ยวกับการระคายเคืองตา โรคที่เกี่ยวกับปอด อย่างถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ภูมิแพ้ และโรคหัวใจ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว โดยกรมควบคุมโรคมีมาตรการเบื้องต้น ที่จะติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงในช่วงวันที่ค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน


รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มีรายงานว่าค่าฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะส่งผลให้ชีวิตคนสั้นลงอย่างน้อย 1 ปี ในอนาคตจึงมีการวางแผนจะมีการทำมอนิเตอร์ค่าฝุ่นละอองและทำการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 4 โรคเฝ้าระวัง เพื่อประเมินอัตราส่วนในการเข้ารับการรักษาและพัฒนาฐานข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วนได้มากขึ้นโดยในส่วนของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม ต้องปรับสอบสวนโรค ซักประวัติ สืบหาสาเหตุ สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้โรคเกิดขึ้น เพื่อจัดกลุ่มผู้ป่วยต่อไป


เบื้องต้น ประชาชนต้องติดตามข่าวสารจากทางราชการว่า ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีการรายงานสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านทางเว็บไซต์ aqmthai.com และในเฟซบุ๊ก กรมควบคุมมลพิษ ทุกเวลา 08.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. หากค่าเกิน ต้องใช้หน้ากากอนามัยในการออกไปทำกิจกรรมด้านนอกอาคาร หรืออาจต้องงดออกจากอาคาร แต่ไม่ควรตื่นตระหนกว่าฝุ่นละออง PM2.5 นี้จะทำให้ดำเนินชีวิตลำบาก เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบถึงขั้นนั้น

คพ.จำกัดเวลารถบรรทุกเข้าเขตเมือง แก้วิกฤตฝุ่นระยะสั้น

ส่วน นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในกทม. คือ การก่อสร้างคอนโด อาคารสูง และรถไฟฟ้า รวมถึงมลพิษจากการจราจร โดยมีรายงาน ระบุว่า รถที่จอดนิ่งขณะติดเครื่อง มีการระบายมลพิษมากกว่ารถที่วิ่งอยู่เป็นเท่าตัว ทางกรมควบคุมมลพิษจึงได้ประสานงานไปกับหน่วยงานอื่นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยกทม.ได้ลดฝุ่นจากการควบคุมการจราจรและการก่อสร้าง ทำความสะอาดถนน กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันสิ่งแวดล้อม ด้านกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการดูแลสุขภาพ แนะประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ส่วนกองบังคับการตำรวจจราจร มีการควบคุมเพิ่มจุดตรวจรถควันดำอย่างเข้มงวด


ขณะที่กรมควบคุมมลพิษมีการวางมาตรการระยะสั้น รับมือช่วงเกิดสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยจะจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าเขตกรุงเทพฯ เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลไปจนถึงเขตวงแหวนรอบนอก หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จะมีการจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กตามพ.ร.บ.การขนส่งทางบกเข้าในเขตกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลของภาครัฐวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และลดการนำยานพาหนะส่วนบุคคลเข้าเขตเมืองโดยใช้มาตรการ carpool หรือมาตรการอื่น ๆ เพื่อจัดการการจราจรให้คล่องตัว รวมถึงควบคุมการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ ให้ลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น ออกประกาศจังหวัดห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด 60 วัน และกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการลดการผลิตหรือหยุดการผลิตชั่วคราว


ทั้งนี้ ยังมีการวางมาตรการระยะยาว ที่คาดว่าจะปรับใช้ได้ในปี 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษได้วางแผนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า รถไฮบริด เพื่อทดแทนรถโดยสารเครื่องยนต์ดีเซล พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะ แก้ปัญหาจราจร รวมถึงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามค่าคาร์บอนไดออกไซต์ที่เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง