เปิดมุมคิด "พริษฐ์ วัชรสินธุ" ว่าที่นักการเมืองรุ่นใหม่ พรรคประชาธิปัตย์

การเมือง
27 มี.ค. 61
20:37
9,248
Logo Thai PBS
เปิดมุมคิด "พริษฐ์ วัชรสินธุ" ว่าที่นักการเมืองรุ่นใหม่ พรรคประชาธิปัตย์
"พริษฐ์ วัชรสินธุ" หรือ ไอติม ว่าที่นักการเมืองรุ่นใหม่กับความหวังตั้งใจที่จะมาตอบแทนคุณประเทศ ด้วยการผันตัวมาเป็นนักการเมืองเต็มรูปแบบ ไม่ว่าเขาจะดำรงตำแหน่งใดในพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ แต่มีเป้าหมายที่แน่ชัด คือการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาประเทศ

ไทยพีบีเอส : อะไรที่ทำให้ตัดสินใจ ทำงานทางการเมือง หลายคนสงสัยคนเข้าทำงานการเมืองได้อะไร แม้หลายคนมักตอบแบบเดียวกันว่า "มาพัฒนาประเทศ"

พริษฐ์ : ถ้าถามว่าทำไมผมถึงอยากมาพัฒนาประเทศไทยอาจจะต้องย้อนไปสมัยที่ผมได้ทุนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งอังกฤษกับไทยมีระบบการปกครองที่เหมือนกันคือเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สิ่งที่เห็นและประทับใจคือไม่ว่าคุณจะเกิดที่ไหนในอังกฤษก็สามารถไปเรียนหรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านได้ จะเห็นได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหรือสาธารณสุขน้อยมาก

พอกลับมาที่ไทยอยากให้ไทยเป็นแบบนั้น ไม่อยากให้พ่อแม่ลำบากเดินทางมาถึงกรุงเทพเพื่อส่งลูกมาเรียนในกรุงเทพ ไม่อยากเห็นคนเป็นพ่อแม่พาตายายเดินทางจากต่างจังหวัดมาเข้าโรงพยาบาลที่กรุงเทพ อยากลดความเหลื่อมล้ำตรงนั้น ผมคิดว่าผมอยากมีส่วนร่วมที่ทำให้ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้

 

 

ถามว่าจำเป็นต้องทำผ่านทางการเมืองไหม ผมจะพูดเสมอว่าไม่จำเป็น ผมเชื่อว่าไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไรเราสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ แต่ถามว่าทำไมถึงตัดสินใจว่าจะมาเล่นการเมือง เหตุผลแรกคือถ้าเราต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ระดับมหภาค ผมคิดว่าการที่เราได้มีส่วนร่วมทางนโยบายและกฎหมายเป็นอะไรที่สำคัญมาก

ตัวอย่างเช่น ผมมีส่วนร่วมในการแก้กฎหมายให้คนรักร่วมเพศสามารถแต่งงานกันได้ก็จะทำให้คนหลายล้านคนมีความสุขขึ้นทันที ไม่ใช่แค่สุขภาพจิตที่จะได้อยู่ร่วมกับคนที่เรารักอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็เป็นสิทธิ์ของการที่ได้คู่ร่วมผลประโยชน์ทางการประกันสุขภาพเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ก็ส่งผลต่อหลายๆ คน

อย่างที่ 2 คือผมอยากทำงานในระบบการเมืองประชาธิปไตย เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นเอกลักษณ์ที่หมายความว่าความสำเร็จของกลุ่มขึ้นอยู่กับทำผลประโยชน์ประชาชนได้มากน้อยเพียงใด ถ้าวันไหนผมไม่สามารถทำประโยชน์ให้ประชาชนได้แล้วประชาชนเองที่จะเป็นผู้ตัดสินและบอกให้ผมหยุดนี่คือเอกลักษณ์ของการเมืองแบบประชาธิปไตย

ไทยพีบีเอส : นักการเมืองหลายคนก็ตั้งมั่นที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาภายในประเทศไม่ว่าจะเศรษฐกิจหรือการศึกษาแต่ก็ยังไม่สำเร็จผลได้อย่างดี อะไรทำให้เรามั่นใจว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

พริษฐ์ : ต้องยอมรับว่าพอเข้ามาพัฒนาประเทศแล้วก็จะเหมือนหลายอาชีพที่มีความซับซ้อนอยู่การที่เราจะเปลี่ยนแปลงกะทันหัน มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนผมเชื่อว่ามันมี 2 ทางคือ 1 มองในอดีตว่าไทยน่าจะเป็นแบบนี้ไปแล้วทำไมจะเป็นไม่ได้ผมท้อ หรือ 2.แม้ว่าจะยากแค่ไหนแต่ผมต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสำหรับทางที่ดีสุดสำหรับประเทศ จึงตัดสินใจเข้ามา

 

 

ไทยพีบีเอส : การเมืองมีความซับซ้อน มีการต่อรองผลประโยชน์มองตรงนี้ยังไงที่จะทำให้เราไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตรงนั้น

พริษฐ์ : ต้องยอมรับว่าทุกชีวิตมีเรื่องซับซ้อนมีการต่อรองผลประโยชน์หมด แต่ผมเข้าใจว่ามาตรฐานทางการเมืองการกระทำของคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาทำให้คนบอกว่า การเมืองเป็นอาชีพที่ซับซ้อนมีการตกลงประโยชน์ ผมรู้สึกว่าเป็นการมองการเมืองในภาพลบ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาสร้างมาตรฐานและการเมืองใหม่ แน่นอนว่าความมุ่งมั่นของผมอย่างเดียวมันไม่พอเราต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ และที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้คนยึดติดอุดมการณ์ไม่พยายามแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง ผมว่ามันมาจากการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ผมจึงพูดอยู่เสมอว่า "ผมเชื่อในระบบประชาธิปไตย" เพราะประชาชนจะเป็นคนที่ตรวจสอบและเช็คให้ทุกคนไม่หาผลประโยชน์เข้าตัวเอง

ไทยพีบีเอส : หลายคนบอกว่าการเข้ามาใช้ชีวิตทางการเมืองต้องแลกกับอะไรหลายหลายอย่าง ไม่ว่าความเป็นอิสระ ชีวิตส่วนตัว "คุณพริษฐ์" พร้อมแล้วหรือไม่

พริษฐ์ : ทุกอาชีพต้องเสียสละหมดคนที่เป็นหมอก็ต้องยอมเสียเวลานอนเพื่อรักษาคนไข้ คนที่เป็นตำรวจจราจรก็ต้องเสี่ยงอยู่บนถนนเพื่อทำให้การจราจรเคลื่อนไหวคนที่เป็นทหารก็ต้องเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับประเทศ ผมมองว่าทุกอาชีพมีการเสียสละหมด

"นักการเมือง" ก็เป็นหนึ่งในอาชีพการเสียสละเวลาหรืออิสรภาพไม่ใช่แค่นักการเมืองที่เสียสละ เพื่อนก็เคยถามตรงๆ ว่าเวลาให้สัมภาษณ์ไป เคยอ่านบ้างไหมคอมเมนต์ที่วิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ เสียใจมั้ย ?...แน่นอนผมอายุ 25 ยอมรับว่า ตอนแรกก็มีความเสียใจในระดับหนึ่ง ทำไมเขาถึงว่าเราอย่างนั้น เวลาเห็นอะไรที่มันไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่มาถึงวันนี้ผมเข้มแข็งขึ้น เวลาผมพยายามอ่านคอมเมนต์ ผมจะตั้งคำถามแรกกับตัวเองว่า คนที่มาคอมเมนต์ มันมีเนื้อหาอะไรที่เราสามารถเอามาปรับปรุงตัวเอง บุคลิก ความคิด แต่ถ้าเป็นอะไรที่ไม่สามารถนำเข้ามาได้ก็จะตัดออกไป ตอนนี้ผมเลยมองว่าทุกคำวิจารณ์ไม่ว่าทางบวกทางลบจะเป็นประโยชน์ให้กับผมด้วย

 

 

 

ไทยพีบีเอส : รู้สึกอย่างไรกับการที่เป็นคนอายุน้อยท่ามกลางวงการการเมือง คนมีอายุและประสบการณ์การเมืองมากกว่า เก๋าเกม และเราจะทำอย่างไรให้เขายอมรับเราในฐานะคนรุ่นใหม่

พริษฐ์ : ผมไม่ตีความว่าเป็นรุ่นเก่ารุ่นใหม่ อยู่ที่อายุเท่านั้นคนอายุ 70 ที่มีความคิดใหม่ก็ถือเป็นคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าถามว่าผมรู้สึกแปลกใจไหมหรืออะไรที่เป็นคนอายุน้อยและพรรคประชาธิปัตย์ ผมไม่ใช่คนเดียวผมเข้าใจว่าตอนนี้มันยังไม่ปลดล็อกก็จะยังไม่เห็นกิจกรรมอะไรมาก ผมยืนยันว่าผมไม่ใช่คนอายุน้อยที่สุดในพรรคประชาธิปัตย์

ถ้าถามว่าเราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไรคนที่มีอายุน้อย หรือว่าคนรุ่นใหม่กับคนที่มีประสบการณ์หรือคนรุ่นก่อน ผมว่าถ้าอยากให้คนที่มีประสบการณ์ยอมรับฟังความคิดเห็นของเราสำคัญที่สุดคือเราต้องรับฟังความคิดเห็นของเขาอยู่แล้ว

ผมว่าการที่ได้เป็นคนรุ่นใหม่ในพรรคที่มีประสบการณ์มาเยอะทำให้มีโอกาสได้รับฟังมุมมองของคนที่มีประสบการณ์ ผมเคยคุยกับหมอคนหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน หมอเล่าให้ฟังว่า โรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่จะมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรทั้งระบบจะใช้ระบบไอทีหมดเลย ฉะนั้นการกรอกข้อมูล คนไข้การเขียนใบรับรองแพทย์ผ่านคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ตัวใหม่ซึ่งในฐานะคนรุ่นใหม่ก็มองว่า เป็นเรื่องอะไรที่ไม่ได้แปลกหรือไม่ยากอะไร ถ้าจะช่วยประสิทธิภาพของโรงพยาบาลการมีข้อมูลมาวิเคราะห์คนไข้ อาจช่วยให้โรงพยาบาลรักษาคนไข้ดีขึ้น

 

 

เลยถามว่าหมอคนนั้นว่า..ก็ดีสิ..หมอก็บอกว่าก็ดีแต่หมอที่มีประสบการณ์หรืออายุมากหลายคน ต้องลาออกเพราะเขารู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะปรับให้เข้ากับการทำงานใหม่ เรื่องนี้เลยสะท้อน ถ้าเราเปลี่ยนแปลงอะไรเร็วเกินไปหรือคำนึงถึงแต่ความคิดของคนรุ่นใหม่ เราอาจจะเสียหรือประเทศเราอาจจะเสียเหมือนที่โรงพยาบาลนั้นเสียคนมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการทำงาน

ไทยพีบีเอส : "คุณพริษฐ์" เคยบอกว่ามุ่งมั่นความหนักแน่นที่จะใช้เทคโนโลยีพัฒนาพรรคประชาธิปัตย์ แล้วการต่อยอดเพื่อพัฒนาสังคมและประเทศเรามองว่าอย่างไรบ้าง

พริษฐ์ : เคยพูดไปว่าอยากให้ประชาธิปัตย์หนักแน่นขึ้นในการใช้เทคโนโลยี มาเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยถ้าถามว่าสามารถเอาไปใช้ในประเทศภาพรวมได้ไหม มองว่าอะไรที่เพิ่มความเป็นประชาธิปไตยของประเทศดีทั้งนั้น เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่สร้างให้โอกาสให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยโดยตรงมากขึ้นคือประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้นไม่ใช่แค่เลือกผู้แทน เข้าไปตัดสินใจแทนเราทุกเรื่อง เช่นประชามติในอเมริกาจะมีแอปพลิเคชันหรือช่องทางเช่น ส.ส.จากเขตหนึ่งจะเสนอกฎหมาย เขาก็สามารถให้ประชาชนออกความเห็นได้เลยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยผ่านแอปพลิเคชัน และจะได้ความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้นการบริหารประเทศสะท้อนความต้องการของประชาชนมากขึ้น

แต่แน่นอนว่าถึงแม้เทคโนโลยีจะเป็นโอกาสที่ดีก็มีความเสี่ยงที่ต้องคำนึงเหมือนกัน คือถ้าเราเน้นให้ทุกอย่างผ่านเทคโนโลยีเกินไป อาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี หรือ ดิจิตอลดีวายน์ คือกลายเป็นคนชนบทไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ กลายเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงหรือมีส่วนร่วมเท่ากับคนที่อยู่ในเมืองที่มีเทคโนโลยีที่ดี ผมว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ ต้องพยายามดึงข้อดีออกมาและคำนึงถึงผลกระทบข้างเคียง

ไทยพีบีเอส : วันนี้พรรคประชาธิปัตย์แถลงแอปพลิเคชันเป็นไปได้ไหมว่าเป็นแนวความคิดจากคนรุ่นใหม่ที่เสนอไอเดียนี้

พริษฐ์ : ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ เท่าที่เคยร่วมงานมา เป็นพรรคที่เปิดมากและเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่มากเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบหรือโครงสร้างต่างๆ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความรู้หรือความเชี่ยวชาญได้อาจจะมากกว่าคนรุ่นก่อนด้วยซ้ำ อาจก็จะมองได้ว่าคนรุ่นใหม่ในพรรคพยายามช่วยผลักดัน

ไทยพีบีเอส : เรื่องของนักการเมืองตัวอย่างที่มองเป็นแบบอย่างของเราคนไทยเป็นใครต่างประเทศเป็นใคร

พริษฐ์ : คิดว่าไม่ว่านักการเมืองไทยหรือต่างประเทศแต่ละคนมีข้อดีเสียต่างกัน เลยไม่อยากยึดติดกับคนคนหนึ่งแต่อยากลองพยายามมองเป็นข้อดีหรือข้อแข็งของแต่ละคน

ผมคิดว่ามีข้อดีที่ผมชอบจะมี 3 คน อย่างแรกผมชอบความหนักแน่นอุดมการณ์ของคุณมาร์กาเรต แทตเชอร์ พรรคอนุรักษ์นิยมที่อังกฤษ ถึงจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายแต่ยอมรับว่ามาร์กาเรต แทตเชอร์เป็นคนที่หนักแน่นในอุดมการณ์มาก

คนที่ 2 พรรคตรงข้ามคือ โทนี่ แบลร์ พรรคแรงงาน ข้อดีคือความที่จะกล้าปฏิรูปพรรค เขาสามารถพลิกโฉมพรรคแรงงานจากพรรคที่แพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบ มาเป็นพรรคที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนได้ โดยการปฏิรูปพรรคก่อน

คนที่ 3 ที่ชอบอาจไม่เกี่ยวกับการเมืองเท่าไหร่คือบารัค โอบามา เพราะผมเห็นเขาแล้วมองเขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เขายังเล่นบาสเก็ตบอลคุยกับคนอื่นเป็นคนอเมริกันคนหนึ่ง ผมคิดว่านักการเมืองก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกันเลยชอบมุมนั้นของโอบามา เพราะฉะนั้น 3 คนนี้จึงอยู่ในดวงใจของผม

ถ้ามานั่งคิดดูว่า 3 คนนี้มีอะไรเหมือนกัน คือหยุดทำงานทางการเมืองไม่ใช่เพราะแพ้การเลือกตั้ง มาร์กาเร็ตถูกพรรคบีบให้ออก โทนี่ แบลร์ ลาออก หลังจากมีปัญหาสงครามอีรัก ส่วนโอบามาลงสมัครวาระที่ 3 ไม่ได้ ก็เป็นอะไรที่เชื่อมั่นอยู่แล้ว

ไทยพีบีเอส : ไม่มีนักการเมืองไทยที่เป็นแบบอย่างบ้างหรือ?

พริษฐ์ : ผมพยายามศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละคนไม่อยากลงเฉพาะบุคคล

 

 

ไทยพีบีเอส : ปัญหาอุปสรรคทางการเมืองในอนาคตหากเราก้าวเข้าไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ แล้วอะไรจะทำให้เราหันหน้าหนีจากการเมือง

พริษฐ์ : วันนี้เราเข้ามาทำงานการเมืองแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้รวดเร็ว ผมก็คิดมานานเหมือนกันซึ่งวันนี้ผมไม่ได้นึกถึงว่าวันไหนจะหนีการต่อสู้ครั้งนี้ออกมา และถ้าอะไรที่ทำให้ผมต้องหันหนี 2 อย่างคือถ้าผมรู้สึกว่าประเทศนี้ไม่มีโอกาสที่สามารถปกครองได้ด้วยระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่แน่นอนผมจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด

2 คือถ้าผมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศได้ผ่านสายงานนี้ ผมคิดมานานแล้ว และผมเรียนทางการเมืองเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่เด็กเลยรู้สึกว่าผมต้องการจะให้ทั้งชีวิตคือการพัฒนาประเทศไทย

ไทยพีบีเอส : ปัญหาทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ผ่านมามีเรื่องของการรัฐประหารมาเกี่ยวข้อง มองยังไงกับเรื่องนี้ เพราะก็ไม่มีสิ่งใดการันตีได้เลยว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก

พริษฐ์ : ตามหลักการผมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ผมเชื่อว่าระบบที่ดีที่สุดคือระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งต้องมีประชาชนมีตัวแทนกำหนดทิศทางของประเทศ อย่างแรกที่ผมเสียใจทุกครั้งที่มีรัฐประหาร ผมเข้าใจว่าคราวที่แล้วเกิดขึ้นหลายคนอาจจะมองว่าประชาธิปไตยล้มเหลวหรือเปล่า ประเทศจะนองเลือดหรือเปล่าถ้าเกิดว่าไม่มีรัฐประหารเข้ามา แต่ต้องยอมรับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน ที่ไม่ใช่ที่ผมเห็นด้วยที่บอกว่ารัฐประหารเป็นทางออกเดียวนะเวลานั้น อดีตก็คืออดีต แต่อนาคตผมคิดว่าคนรุ่นใหม่อย่างผมที่เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยต้องเข้ามาเป็นแรงผลักดันมีส่วนร่วมทำให้ประชาธิปไตยอยู่ได้อย่างยั่งยืนและสมบูรณ์แบบ หวังเหมือนกันว่าชีวิตนี้จะไม่ต้องเจอรัฐประหารอีกแล้ว ผมต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะพยายามทำให้ได้

ไทยพีบีเอส : คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ต้องเป็นคนแบบไหนในมุมมองของคนรุ่นใหม่

พริษฐ์ : ผมบอกว่า 2 ด้าน ด้านแรกคือต้องเป็นคนที่มีความสามารถจะเป็นคนที่มีประสบการณ์มีวิสัยทัศน์รอบด้าน และ 2 ต้องเป็นคนดีด้วย คนที่ไม่มีการทุจริต ไม่มีประวัติของการคอร์รัปชันก็มาเกี่ยวข้อง

ผมเคยโดนถามว่าคุณอยากได้คนดีหรือคนเก่งมากกว่ากัน ผมมองว่าประเทศไทยน่าจะมีคนที่ทั้งดีและเก่งอยู่เยอะ แต่ต้องยอมรับว่าในระบบรัฐสภา ผมไม่อยากให้ความสำคัญกับแค่นายกรัฐมนตรีคนเดียวเพราะนายกรัฐมนตรีเป็นแค่ส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่มีสิทธิ์มีเสียงส่วนร่วมทั้งหมด ฉะนั้นการที่ประเทศจะเดินหน้าต่อไป เราอย่าพึ่งแต่นายกรัฐมนตรีคนเดียว เราต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ไทยพีบีเอส : คาดว่าการเลือกตั้งครั้งแรก คาดว่าจะเป็นว่าที่ ส.ส.เลยหรือเปล่าหรือมีส่วนหน้าที่อย่างไรกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เราจะสังกัดด้วย

พริษฐ์ : ผมจะมีส่วนร่วมอย่างไร ก็ต้องรอดูอีกที เพราะพรรคประชาธิปัตย์บริหารด้วยระบบประชาธิปไตยถ้าผมจะเข้ามามีบทบาทอะไร ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนอะไรต้องเป็นคนที่สมาชิกพรรครับรอง ฉะนั้นวันนี้ผมตอบแทนสมาชิกพรรคไม่ได้

ความเชื่อมั่นที่ "พริษฐ์" ทิ้งท้ายไว้ต่อพรรคประชาธิปัตย์

...หากพรรคประชาธิปัตย์เปิดให้สมัครสมาชิกใหม่ ถ้าผมยังเชื่อมั่นว่า ประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่เหมือนที่ผมเคยพูดถึงแล้วผมก็จะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่

หมายเหตุ : “พริษฐ์” เคยกล่าวเน้นเรื่องความต้องการหนักแน่น 3 เรื่องหลัก
(1) หนักแน่นในอุดมการณ์ เสรีนิยม-ประชาธิปไตย
(2) หนักแน่นในการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยในการบริหารพรรค
(3) หนักแน่นในการให้นโยบายเป็นวาระสำคัญสุดของพรรค โดยนโยบายควรเชื่อมโยงกับนักวิชาการและงานวิจัย

เนื้อหา : นายภูวเดช ฉัตรทิวาพร

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง