"ครูนอกกรอบ" เด็กทุกคนเป็นที่ 1 ของผม

สังคม
2 เม.ย. 61
11:55
11,871
Logo Thai PBS
"ครูนอกกรอบ" เด็กทุกคนเป็นที่ 1 ของผม
ไทยพีบีเอสออนไลน์พามาทำความรู้จักกับ "นายชินกร พิมพิลา" ครูนอกกรอบที่ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง โดยมีมุมมองว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน จึงวัดผลด้วยคะแนนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคำว่า “ครู” ไม่ใช่อยู่แค่ในห้องเรียน

 

กว่าจะเป็นครูชินกรของนักเรียนที่ 1 ยกห้อง

ผมเติบโตมาพร้อมความยากจน พ่อแม่ไม่ได้จบสูง ขาดโอกาส แต่ก็อยากให้ลูกมีโอกาสมากกว่าตัวเอง ที่บ้านมีพี่น้อง 3 คน แต่ละคนก็พยายามเปลี่ยนครอบครัวให้ดีขึ้นด้วยการศึกษา ช่วงเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาผมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านนาสีนวล ต.หนองแปน อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร ช่วงพักหรือว่างจากการเรียนก็ได้ช่วยสอนเพื่อนอ่านหนังสือ รู้สึกดีมาก พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้เรียนในคณะศึกษาศาสตร์ การสอนภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้วได้ไปออกค่ายอาสาในพื้นที่ต่างจังหวัด เลยทำให้คิดว่าอยากจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง หลังจากเรียนจบช่วงปี 2553 มีโอกาสได้สอนที่โรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม จ. อุดรธานี ช่วงปี 2556 เลยตัดสินใจกลับบ้านและเริ่มสอนที่โรงเรียนบ้านนาสีนวล  แต่ได้ลาศึกษาต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จนถึงปี 2559 ก็กลับมาสอนที่โรงเรียนบ้านนาสีนวลเหมือนเดิม

จุดเริ่มต้นของการจัดลำดับ 1 ยกห้อง

เริ่มต้นจากการสอบโอเน็ตซึ่งเป็นการสอบวัดมาตรฐานระดับประเทศ ทุกคนตั้งใจมากทั้งครูและนักเรียน แต่ผลคะแนนสอบโอเน็ตโรงเรียนกลับได้คะแนนไม่ผ่านหรือตกเกณฑ์ระดับประเทศ ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่าเราจะทอดทิ้งเด็กพวกนี้หรือ เด็กที่อาจจะเก่งในวิชาที่ไม่ได้มีสอบในโอเน็ต พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร นักเรียนในห้อง ป.6/1 มีทั้งหมด 17 คน ด้วยความที่เราเป็นครูประจำชั้น ผมก็จะรู้ว่าแต่ละคนมีความถนัดในด้านไหน ชอบอะไร พอมีการสอบและเกรดออกครั้งแรก เลยลองทำใบ ปพ.6 หรือใบเกรด ซึ่งประกอบด้วย 1.ข้อมูลส่วนตัว 2.ผลการเรียนรู้วิชาพื้นฐาน 3.กิจกรรมที่เข้าร่วม และ 4.การจัดลำดับในห้องเรียน ซึ่งสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากใบ ปพ.6 ธรรมดา ก็คือ ผมจัดลำดับให้ทุกคนได้ที่ 1 ในด้านต่างๆ ที่พวกเขาถนัด

หลังจากเด็กๆ ได้รับใบเกรดแล้ว มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง

ทุกคนถามหาลำดับ พ่อแม่ ผู้ปกครองปกติก็จะถามลำดับกันอยู่แล้ว พอครูบอกว่าเธอได้ที่ 1 เขาก็ไม่เชื่อก็รีบเปิดดูในซองถามว่าผมได้ที่ 1 จริงเหรอ ครูก็บอกว่าจริง พอทุกคนดูของตัวเองแล้วตื่นเต้น ดีใจ ก็เริ่มหันไปถามเพื่อนข้างๆ ว่าแต่ละคนได้ที่ 1 ด้านไหน อย่างเพื่อนคนหนึ่งได้ที่ 1 ด้านนักสร้างเครื่องบินที่เก่งที่สุด เพื่อนคนอื่นๆ ก็จะมาชื่นชมและเห็นด้วยว่า “แม่นๆ เจ้าสร้างเครื่องบินเก่งอิหลี” ทุกคนก็จะดีใจและภูมิใจในความสามารถของตัวเอง 

เหตุผลที่มีการจัดให้ทุกคนสอบได้ที่ 1 ในด้านต่างๆ ?

ทุกครั้งตั้งแต่เป็นเด็กทุกคนมีความคาดหวังว่าอยากจะเรียนให้ได้ที่ 1 คนที่พลาดหวังก็มีเยอะ ผมก็คิดว่าเด็กที่ได้ที่สุดท้ายจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ไม่เก่ง แต่อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างสมองแต่ละคนอาจมีช่วงเวลาในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เลยไม่อยากสร้างตราบาปให้เด็กว่า เธอคือคนที่โง่ที่สุดในห้อง คิดไปคิดมาก็คิดขึ้นมาว่าถ้าให้เด็กได้ที่ 1 ในทักษะที่เขาถนัดและชื่นชอบ เขาก็จะดีใจและภูมิใจในตัวเอง และผมเชื่อว่า อันดับในห้องเรียนไม่สามารถตอบโจทย์การศึกษาได้ทุกมิติ แต่การให้คุณค่ากับเด็กจะเป็นการพัฒนาให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ทำไมถึงกล้าที่จะทำเรื่องแปลกใหม่แบบนี้

เพราะผมคิดว่า คำว่า “ครู” ไม่ใช่อยู่แค่ในห้องเรียน หรือในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กได้ค้นหาและเรียนรู้ตัวเขาเอง แค่พาเขาออกไปนอกรั้วโรงเรียนเขาก็มีความสุขและรู้สึกสนุกแล้ว โลกมันกว้าง เราอยากให้เขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ เด็กพวกนี้เป็นคนมีน้ำใจและรับผิดชอบ เวลามีโครงการอะไรก็ช่วยงานเต็มที่ อย่างวันหนึ่ง นายชัยยา เดินมาบอกว่า “ผมอยากเป็นวิศวกรครับครู” ผมก็ถามเขาว่า จริงเหรอ งั้นสนใจทำโครงการสร้างห้องน้ำโรงเรียนใหม่กันไหม เพื่อให้เขาได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง จะได้รู้ว่าตัวเขาเหมาะกับอาชีพนี้หรือไม่ ก็เริ่มพาเขาไปดูร้านกาแฟ ไปปั๊มน้ำมัน หาหนังสือออกแบบมาให้อ่าน หลังจากนั้นก็เริ่มให้โจทย์เขาคิดว่า จะสร้างห้องน้ำอย่างไรให้แสดงออกถึงความเป็นบ้านนาสีนวล ชัยยาจึงเสนอให้ใช้เครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากที่หมู่บ้านเคยขุดพบเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ชัยยาออกแบบห้องน้ำใหม่อย่างตั้งใจ ลงมือทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอนจนสำเร็จออกมาเป็นแบบพร้อมสร้างให้ทุกคนได้เห็น

 

ชัยยาเดินเข้ามาหาผมด้วยความร่าเริงเหมือนวันแรกที่เขาบอกว่าอยากเป็นอะไร “ครูครับ ผมไม่อยากเป็นวิศวกรแล้วครับ แต่ผมอยากเป็นสถาปนิกครับ” คำตอบของเขาเปลี่ยนไปจากประสบการณ์การทำงานที่เขาลงมือทำด้วยตนเองและเรียนรู้เองอย่างแท้จริง ผมรู้สึกว่านี่คือความสำเร็จของทั้งชัยยาและผมนะ

อนาคตโรงเรียนจะปรับใช้การจัดลำดับในชั้นอื่นไหม

ทุกอย่างที่ผมทำ ผมไม่ได้ต้องการจะบังคับให้คนอื่นต้องทำตาม เพียงแต่คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของความเป็นครู ครูต้องถามตัวเองว่าควรทำไหม เพราะเด็กทุกคนก็มีความแตกต่างระหว่างบุคคล การพัฒนาศักยภาพรายบุคคลถือเป็นโมเดลให้แง่คิดกับคนอื่น เพราะเราต้องสอนเด็กให้กล้าที่จะก้าวออกมาเพื่อค้นหาตัวเอง ต้องรู้จักตัวเองตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา ไม่ใช่นั่งเรียนผ่านไปวันต่อวัน สุดท้ายสอบได้อะไรก็เรียน

มีเหตุการณ์ประทับใจอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เอาจริง ๆ คือ เราจัดลำดับให้ทุกคนเป็นที่ 1 ในด้านต่างๆ เทอมนี้เป็นครั้งแรก แต่การเรียนการสอนของเรามุ่งเน้นให้เด็กลงพื้นที่สำรวจชุมชนมาโดยตลอด เพราะอยากให้เขารู้ว่าบ้านเขามีอะไรดี มีคุณค่า และรู้สึกอยากกลับมาทำงานและรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ แล้วเราก็รับรู้ได้ว่ามันประสบความสำเร็จ เพราะมีตัวอย่าง คือ ชุลีพร ได้ลงโครงการศึกษาชุมชนเกี่ยวกับความหลากหลายของสายน้ำ เนื่องจากรัฐบาลได้สร้างเขื่อนบริเวณลุ่มน้ำสงคราม ชุลีพรจึงอยากรู้ว่าปลาใต้เขื่อนและเหนือเขื่อนมีจำนวนเท่าไหร่ แล้วได้ทำการทดลอง ศึกษาและส่งประกวดระดับประเทศ และนำมาเป็นผลงานในการสมัครเข้าเรียนภาควิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในรอบเด็กดีมีที่เรียน


ชุลีพร ตอบคณาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ว่า ที่ลุ่มน้ำสงครามบ้านเกิดของหนูมีปลาเนื้ออ่อนอยู่มาก ถ้าหนูมีโอกาสเรียนที่คณะนี้ หนูจะกลับไปพัฒนา เพาะพันธุ์ปลาเนื้ออ่อนเพื่อส่งขาย พัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน ให้คนไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน มีกิน มีใช้ มีเก็บ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพราะหนูฮักบ้านเกิด 


"พอได้ฟังเราก็รู้สึกว่านี่แหละสิ่งที่เราต้องการ เราไม่ได้หวังรางวัลระดับประเทศ แต่เราอยากให้ลูกศิษย์ได้รู้จักและเลือกทางของตัวเอง" ครูชินกรทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ด้วยความภาคภูมิใจและแสดงให้เห็นถึงความกล้าของครูพันธุ์ใหม่ที่พร้อมจะสร้างเยาวชนไทยเพื่อพัฒนาบ้านเกิดและประเทศไทยต่อไปอย่างยั่งยืน

ผานิต ฆาตนาค ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง