อ.อ.ป.ยืนยันตัด "ยูคาลิปตัส" เสื่อมโทรมสวนป่ากันทรารมย์

สิ่งแวดล้อม
2 เม.ย. 61
15:46
2,473
Logo Thai PBS
อ.อ.ป.ยืนยันตัด "ยูคาลิปตัส" เสื่อมโทรมสวนป่ากันทรารมย์
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ยืนยันไม่ได้ตัดทำลายป่าธรรมชาติสวนป่ากันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ แต่เตรียมพัฒนาพื้นที่ และขุดตอต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้เดิมเมื่อ 28 ปีก่อนจนมีสภาพเสื่อมโทรมกว่า 1,500 ไร่ ชี้ทำประชาคมชุมชนท้องถิ่นก่อนเข้าดำเนินงานตามขั้นตอน

วันนี้(2 เม.ย.2561) นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป. กล่าวว่า หลังจาก อ.อ.ป. ได้รับมอบสวนป่ากันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ที่ปลูกโดยบริษัท ศรีสะเกษทำไม้ จำกัด จากกรมป่าไม้ ให้ดูแลและใช้ประโยชน์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2533 และวันที่ 12 ก.ย. 2534 เป็นสวนป่าที่อยู่ในเขตป่าเพื่อเศรษฐกิจ (โซน E) พื้นที่ประมาณ 2,676 ไร่ ชนิดไม้ที่ปลูกเดิมเป็นไม้ยูคาลิปตัส ปลูกตั้งแต่ปี 2523- 2531 โดย อ.อ.ป.ได้กันพื้นที่สวนป่าประมาณ 1,176 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อคงรักษาสภาพแวดล้อมธรรมชาติไว้ และให้ชาวบ้าน และชุมชนโดยรอบสวนป่าใช้ประโยชน์ เช่น การเก็บเห็ด เก็บผัก ผลไม้ป่า ตามหลักวิชาการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

 

 

ผอ.อ.อ.ป. กล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่ที่เหลือซึ่งปลูกไม้ยูคาลิปตัสเดิม ที่ผ่านมา อ.อ.ป.ได้การทำไม้ยูคาลิปตัส ตามแผนงานฯ มาแล้ว 2 รอบตัดฟัน โดยไม่มีปัญหากับชาวบ้านรอบพื้นที่แต่อย่างใด แต่ต้นยูคาลิปตัสเป็นไม้ที่มีอายุมาก ผ่านการตัดฟันมาแล้ว 2 รอบ จึงมีสภาพเสื่อมโทรมจนหมดสภาพ และไม่คุ้มค่าต่อการบริหารจัดการตามหลักวิชาการ อ.อ.ป. มีแผนพัฒนาพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสเดิมที่เสื่อมโทรมตามหลักวิชาการและหลักวนวัฒนวิทยา วางเป้าหมายที่จะดำเนินการพัฒนา ในปี 2561 จำนวน 750 ไร่ และปี 2562 อีกจำนวน 750 ไร่ รวมพื้นที่ดำเนินการ ทั้งสิ้น 1,500 ไร่

 

 

สำหรับแนวทางในการพัฒนาสวนป่าแห่งนี้ อ.อ.ป.ได้มีการทำประชาคมชุมชมโดยรอบสวนป่าแบบกลุ่มย่อยในหลายชุมชนท้องถิ่น มีการจัดส่งหนังสือชี้แจงในรายละเอียด ตามวิธีการและแนวทางตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของการดำเนินการพัฒนาสวนป่ากันทรารมย์ ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ และดำเนินการขุดตอไม้ยูคาลิปตัสเดิม สำหรับไม้ธรรมชาติ อ.อ.ป.จะเก็บรักษาไว้ให้คงสภาพธรรมชาติเดิม เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมและให้ชาวบ้าน ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง