สถานการณ์ครอบครัวไทย ท่ามกลางความหลากหลายของสังคม

สังคม
14 เม.ย. 61
19:57
2,975
Logo Thai PBS
สถานการณ์ครอบครัวไทย ท่ามกลางความหลากหลายของสังคม
การอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัวในช่วงสงกรานต์ยังคงเป็นภาพที่ถูกนำเสนอ และยืนยันความสำคัญวันครอบครัว 14 เม.ย.ของทุกปี แต่ครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่การกำหนดนโยบายแนวทางของรัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึนจริง

"ครอบครัวสว่างวงศ์" ซึ่งพักอาศัยในชุมชนย่านเคะร่มเกล้า โดยมีนางจันทร์รุ่ง สว่างวงศ์ อายุ 67 ปี ผู้เป็นย่าเลี้่ยงดู ด.ญ.ณัฐวดี แสนปัดชา หรือน้องณัฐ หลานสาว วัย 14 ปี เนื่องจากพ่อแม่ของณัฐไปทำงานที่โรงงานตั้งแต่เช้าและทำงานล่วงเวลาต่อจนถึงค่ำ กว่าจะกลับถึงบ้านก็ช่วงค่ำ หน้าที่เลี้ยงดูหลานจึงอยู่ในความดูแลของย่าจันทร์รุ่งตั้งแต่ณัฐยังเด็ก ด้วยเหตุนี้ย่าและหลานคู่นี้จึงมีความสนิทสนมสามารถพูดคุยกันได้แทบทุกเรื่อง แต่ยอมรับว่ามีบางเรื่องที่ไม่สามารถให้คำปรึกษาได้โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีณัฐจึงเลือกปรึกษาเพื่อนแทน

"ตอนนี้มีโทรศัพท์ มีโน้ตบุ๊ก มีไลน์ มีอะไรต่ออะไร เราก็ไม่เท่าทันหลาน เพราะการเรียนก็ไมได้เรียนแบบสมัยก่อน" ย่าจันทร์รุ่ง กล่าว

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่าในช่วง 25 ปี ครอบครัวข้ามรุ่น แบบตา-ยาย หรือ ปู่-ย่า เลี้ยงหลาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะพ่อ-แม่ ต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ที่น่ากังวลคือ ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ที่ส่งผลต่อช่องว่างการเรียนรู้และความสัมพันธ์ระหว่างคนข้ามรุ่น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งศึกษารวบรวมข้อมูลครอบครัว เพื่อกำหนดแผนแก้ปัญหาให้ตรงจุด

"ใน 1 ปี 365 วัน ไม่ได้แปลว่าครอบครัวเขาจะอยู่ด้วยกันแบบนั้นตลอด เช่นในช่วงฤดูแล้งคนรุ่นพ่อ-แม่ ก็จะอพยพเข้าเมืองเพื่อหางานทำแล้วหน้าเกษตรก็กลับไปทำไร่ทำนา นี่คือสภาวะชั่วคราวของครอบครัวนั้นๆ ก็มีคำถามว่าเราจะดูแลครอบครัวแบบนี้อย่างไร ก็ต้องมีการศึกษาว่าวัฏจักรของการใช้ชีวิตของครอบครัวเป็นอย่างไรแล้วออกแบบให้เหมาะสม" น.ส.ณัฐยา ระบุ

รายงานสถานการณ์ประชากรไทยปี 2558 ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ยังพบ ครอบครัวไทยมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยครอบครัวเดี่ยวที่มีพ่อ แม่ ลูก ลดลงไปกว่าครึ่งนึง แต่ครอบครัวที่ไม่มีบุตร, ครอบครัวเพศเดียวกัน หรือ ครอบครัวข้ามรุ่น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายของรัฐยังไม่ได้กำหนดให้สอดคล้องกับความหลากหลายของครอบครัว

"ถ้านโยบายมันถูกวางบนฐานคิดเดิมว่า ครอบครัว คือ พ่อ แม่ ลูก แล้วการออกแบบนโยบายต่างๆ คิดจากฐานนี้เท่านั้น ก็เท่ากับว่า ครอบครัวสารพัดรูปแบบก็จะตกหล่นจากนโยบาย ระบบบริการต่างๆ ที่รัฐจัดไว้ให้ดูแลครอบครัว" น.ส.ณัฐยา ระบุ

ภาพของครอบครัวแบบเดิมที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาจะเป็นสิ่งที่หลายคนฝันถึงและอยากให้เป็นแต่ความเป็นจริงของครอบครัวไทยยุคใหม่ที่มีความหลากหลาย คือ โจทย์ท้าทาย สำหรับวันครอบครัวปีนี้ว่า เราจะสามารถพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ได้มากน้อยแค่ไหน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง