กสทช.แนะ ปอท.ร่วมจับตา 11,400 เบอร์ทรูฯ หลุด หวั่นมิจฉาชีพนำไปใช้

สังคม
22 เม.ย. 61
10:59
781
Logo Thai PBS
กสทช.แนะ ปอท.ร่วมจับตา 11,400 เบอร์ทรูฯ หลุด หวั่นมิจฉาชีพนำไปใช้
“ธวัชชัย” บอร์ด กสทช.แนะตำรวจ ปอท.ช่วยร่วมจับตาหลังข้อมูลกลุ่มลูกค้า "ทรูมูฟ เอช" หลุดสู่สาธารณะจำนวน 11,400 เลขหมาย หวั่นโดนนำไปใช้ทำผิดกฎหมาย

วันนี้ (22 เม.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า “ทรูมูฟ เอช” รั่วไหลสู่บุคคลภายนอก จำนวน 11,400 เลขหมาย เนื่องจากบริษัทไอทรูมาร์ท บริษัทในเครือทรูมูฟเอช เก็บข้อมูลลูกค้าบนพื้นที่ให้บริการจัดเก็บข้อมูลภายใน (คลาวน์) นั้น นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ หนึ่งในกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า คณะกรรมการ กสทช. ต้องพิจารณาว่าจะมีมาตรการลงโทษบริษัททรูมูฟ ได้อย่างไรบ้างในฐานะผู้รับใบอนุญาต หากข้อเท็จจริงพบว่าบริษัทปล่อยให้ข้อมูลรั่วไหลสู่สาธารณะ โดยไม่มีการปิดกั้นระบบและถ้าความเสียหายเกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าของบริษัท ทรูมูฟเอช ตามมา 11,400 เลขหมาย ทางบริษัทต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเบื้องต้นเท่าที่ติดตามข้อมูลนี้ที่มีผู้เปิดเผยข้อมูลถือเป็นความผิดพลาดของบริษัทหรือยูสเซอร์ของที่รับผิดชอบ ซึ่งคลาวด์ของบริษัทอะเมซอน เอส 3 ถือว่าได้รับความนิมยมมาก และบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งในโลกนี้ก็นิยมใช้กัน เรื่องนี้จึงมองว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นกับบริษัททรูฯ

“เรื่องนี้สังคมจับตามองกันมากระเบียบที่ กสทช.จะต้องทำก็มี แต่ทั้งหมดต้องรอพิจารณาตามที่สำนักงาน กสทช.จะทำสรุปข้อเท็จจริงนำเสนอ และคณะกรรมการแต่ละคนต้องพิจารณาร่วมกันว่า บริษัทจะเข้าข่ายกระทำความผิดหรือไม่ ทุกอย่างต้องขอให้รอความชัดเจน เพราะผู้เชี่ยวชาญหรือที่อยู่ในวงการให้ความเห็นกันมากแล้ว แต่ถ้า สำนักงาน กสทช. จะสรุปมาแบบเห็นต่างกับคนที่เชี่ยวชาญให้ความเห็นกัน มันก็เป็นเรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น เรื่องนี้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของ กสทช.เช่นกัน”

นายธวัชชัย กล่าวว่า ในอนาคตหน่วยงานที่ควรมีบทบาทร่วมตรวจสอบมากขึ้นเมื่อเกิดปัญหาลักษณะนี้ คือ ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพราะปัญหาหรือโอกาสที่บุคคลจะกระทำความผิดทางออนไลน์ ปัญหาการล่อลวง ล่วงละเมิดจะเยอะมากขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยีไปด้วย การป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลบนไซเบอร์จะต้องหามาตรการป้องกันไปด้วย และตำรวจเองต้องเข้าใจเรื่องราวด้วยว่า ขณะนี้มันมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับกลุ่ม 11,400 เลขหมาย ทางตำรวจต้องเฝ้าตามองเป็นพิเศษด้วยเช่นกันว่า มีการนำเลขหมายเหล่านี้ไปใช้กระทำความผิดเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ แล้วต้องค่อยๆ สอบสวน ไม่ใช่เกิดพบกระทำความผิดแล้วมาจับเจ้าของเบอร์ทันที โดยไม่สอบสวนหรือไม่รู้ว่ามีปัญหานี้อยู่ก็ไม่ได้

นายธวัชชัย กล่าวว่า กรณีการจัดเก็บฐานข้อมูลของลูกค้าถือว่ามีความสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะข้อมูลส่วนบุคคลจะเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นตามไปด้วย และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ เลขา กสทช. เสนอจะจัดเก็บฐานข้อมูลของลูกค้าค่ายมือถือไว้เอง เพราะบทบาทของ กสทช. เป็นฝ่ายกำกับจะดีกว่า

ส่วนบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการจัดเก็บข้อมูลจะมีระบบความปลอดภัยสูงมากกว่า รวมถึงมาตรการที่รองรับเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ต้องใช้บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง