นักการเมืองกับการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย

การเมือง
25 เม.ย. 61
11:14
942
Logo Thai PBS
นักการเมืองกับการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย
แม้จะยังไม่มีคำสั่งปลดล็อกพรรคการเมือง จาก คสช. แต่ก็จะเห็นนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม เริ่มขยับตัวจัดกิจกรรมเล็กๆ ขึ้นบ้างแล้ว หากแต่เป็นกิจกรรมที่ยังคงอยู่ในนามส่วนบุคคลเท่านั้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย

นับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.ก่อนจดแจ้งเป็นพรรคการเมือง และวันแถลงเปิดตัว ว่าที่หัวหน้าพรรค "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ใช้โซเชียลมีเดีย สื่อสารกับประชาชน หรือแม้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคประชาชน ก็ยังถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่ปฏิเสธว่า คือกลยุทธ์การหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่

"การลงพื้นที่ไม่ใช่กลยุทธ์ แต่สิ่งที่ทำไปคือทำในนามส่วนตัว อยากรับฟังปัญหาของชาวบ้านจริงๆ ก็ลงไปรับฟังจริงๆ ก็ถ่ายทอดสดก็ไม่มีอะไร ไม่ใช่กิจกรรมของพรรค " ธนาธร กล่าว

 

 

ไม่ต่างกันกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเห็นคนรุ่นใหม่ อย่างนายพริษฐ์ วัชรสินธุ เดินสายร่วมรายการทางโทรทัศน์ และยังใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตราแกรม เผยแพร่ประสัมพันธ์หลักคิดและหลักการของพรรค ซึ่งมีทั้งเสียงตอบรับและเสียงวิพากษ์วิจารณ์

"มาถึงวันนี้ผมว่าผมเข้มแข็งขึ้น เวลาผมอ่านความเห็นต่างๆ ผมพยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีเนื้อหาอะไรที่สามารถนำมาปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงบุคลิก ปรับปรุงตัวเองได้มั้ย ถ้าเป็นอะไรที่ไม่สามารถนำมาปรับปรุงตัวเองได้ก็ตัดออกไปทุกวันนี้ผมจึงมองคำวิจารณ์ไม่ว่าจะทางบวกทางลบทุกอย่างล้วนเป็นประโยชน์กับผมทั้งนั้น" พริษฐ์ กล่าว

 

 

ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยอมรับว่า ยังไม่เน้นการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ ด้วยเหตุผลว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของพรรค ยังเป็นกลุ่มที่ติดตามสื่อเดิมอย่างโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์

"ประเทศไทยคนที่เข้าถึงสื่อออนไลน์หรือสื่อโซเชียลมีเดียมีมาก และเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร ที่ยังใช้สื่อออฟไลน์ทั้ง การฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ สภากาแฟในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดความเห็นกัน การจะเดินไปข้างหน้าคงยังไม่ถึงว่าต้องเลือกไปทางใดทางหนึ่ง" วราวุธ ระบุ

 

 

นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก วิเคราะห์ว่าสื่อออนไลน์จะเป็นสื่อใหม่ที่มีการแข่งขันของแต่ละพรรคสูงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ และเห็นว่า ท่ามกลางกระแสข่าวว่ารัฐบาล-คสช.กำลังจะเป็นผู้เล่นในสนามเลือกตั้งด้วยนั้น ก็ควรสร้างความเท่าเทียมทางการเมือง และลดข้อครหา ด้วยการปลดล็อกคำสั่ง คสช.เพื่อเปิดทางให้แต่ละพรรคเดินหน้ากลยุทธ์การสื่อสารทางการเมือง

"ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการถูกครหาว่า มีความเหลื่อมล้ำได้เปรียบ เสียเปรียบตรงนี้ การปลอดล็อคให้แต่ละพรรคได้ออกมาทำกิจกรรมก็ถือว่าเป็นความยุติธรรม เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองจะสนับสนุนนายกฯหรือไม่สนับสนุนก็มีโอกาสทำกิจกรรมทางการเมือง มีโอกาสสื่อสารกับประชาชน แต่นี่เหมือนกับว่าซีกของรัฐบาลสามารถสื่อสารได้ฝ่ายเดียว ขณะที่ฝ่ายอื่นๆ ถูกจำกัด" คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก ระบุ

 

 

นอกจากนี้ยังชี้แนะแนวทางพรรคใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักว่าควรใช้ทฤษฏีการสื่อสารเพื่อสร้างจุดเด่นให้แตกต่างเป็นที่จดจำและรู้จักของประชาชน อาทิ การใช้สื่อมวลชนสื่อกระแสหลักให้เป็นประโยชน์ การร่วมรายการทางโทรทัศน์ การใช้จุดเด่นของคนในพรรค ผ่านหลักคิดที่ว่า "แปลก ใหม่ ใหญ่ และ ดัง" และใช้คนในพรรคที่มีชื่อเสียงสร้างอัตลักษณ์ เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้มากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง