ปิดตำนาน "ชุมชนป้อมมหากาฬ" ขีดเส้นรื้อทุกหลัง 29 เม.ย.นี้

สังคม
25 เม.ย. 61
18:57
3,281
Logo Thai PBS
ปิดตำนาน "ชุมชนป้อมมหากาฬ" ขีดเส้นรื้อทุกหลัง 29 เม.ย.นี้
ผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่ขอบคุณชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬที่ให้ความร่วมมือ หลังขีดเส้นรื้อถอนทุกหลัง 29 เม.ย.นี้ พร้อมเดินหน้าสร้างสวนสาธารณะตามแผนแม่บทพัฒนาเมือง ระบุยังอนุรักษ์แนวกำแพงเพราะถูกขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

วันนี้ (25 เม.ย.2561) ถือเป็นวันสุดท้ายของชุมชนหลังกำแพงป้อมมหากาฬ ถนนราชดำเนินกลาง ที่ชาวบ้านต้องขนข้าวของ ออกจากพื้นที่ให้หมด ตามคำสั่งของกรุงเทพมหานคร ตลอดทั้งวันชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬทยอยขนข้าวของออกจากพื้นที่ตามคำสั่งของกรุงเทพมหานครที่กำหนดให้วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ชาวบ้านทุกคนต้องย้ายออกทั้งหมด

 

โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนบ้านที่ย้ายสิ่งของออกหมดแล้วทันที 1 หลัง จากที่เหลืออยู่ 7 หลัง โดยทั้งหมดจะถูกรื้อถอนให้สร็จภายในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ส่วนชาวบ้านชุดสุดท้ายที่ย้ายออกวันนี้ ส่วนใหญ่จะไปอาศัยอยู่ในชุมชนกัลยาณมิตร เขตบางซื่อ เป็นการชั่วคราว ก่อนจะขยับขยายหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งชาวบ้านยอมรับว่า ยังเสียดายและผูกพันกับชุมชนหลังยืนหยัดต่อสู้มายาวนาน 26 ปี

นางเกื้อ ประจวบสุข ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า อยู่มาตั้งแต่เกิด ทุกอย่างอยู่ที่นี่ ถ้าให้เลือกได้ก้อยากตายที่นี่ แต่ถ้าอยู้ไม่ได้ก็ต้องไป ส่วนนายพรเทพ บูรณบุรีเดช ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ถ้าไม่ใช่ที่ดินของเราเองหากจะเช่า 30 ปีอยากให้ดูรายละเอียดให้ดีจะได้ไม่กระทบ

 



วันนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ขอบคุณชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือ พร้อมยืนยันจะเดินหน้าแปลงพื้นที่นี้ไปเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทพัฒนาเมือง ส่วนตึกด้านหลังที่เป็นตึกโบราณจะอนุรักษ์ไว้ และอาจใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา


เราต้องหารือกับกรมศิลปากร เพราะที่นี่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ ทั้งตัวกำแพงถูกขึ้นทะเบียนหากจะทำอะไรต้องได้รับความเห็นชอบก่อน ส่วนต้นไม้ที่สูงเกินศรีษะจะเก็บไว้ทั้งหมด ยืนยันพื้นทีนี้จะให้ทุกคนมาใช้ประโยชน์ 

 


ตลอด 26 ปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ พยายามเสนอทางออกให้กรุงเทพมหานคร ปรับปรุงพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลและจัดการ รวมถึงมีมติจากคณะกรรมทั้ง 4 ฝ่าย เห็นตรงกันว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งวิถีชุมชน และสถาปัตยกรรมของบ้านไม้เก่าแก่ ที่ควรได้รับการอนุรักษ์โดยชุมชนมีส่วนร่วม แต่ข้อเสนอนี้ กทม.ไม่เห็นด้วย และยืนยันตามแนวทางการพัฒนาเมือง จนนำมาสู่ข้อสรุปในวันนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง