นายกฯ ย้ำ ครม.สัญจร ไม่มีการเมือง

การเมือง
6 พ.ค. 61
18:38
383
Logo Thai PBS
นายกฯ ย้ำ ครม.สัญจร ไม่มีการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์แนะรัฐบาล-คสช. ลงพื้นที่ ครม.สัญจร อย่าสร้างพฤติการณ์สวนทางปฏิรูปการเมือง ขณะที่นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธเจตนาการเมือง ย้ำ ครม.สัญจร เน้นรับฟังปัญหาประชาชน และติดตามผลการดำเนินนโยบาย

วันนี้ (6 พ.ค.2561) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 7-8 พ.ค. นี้ เพื่อติดตามรับฟังปัญหาของประชาชน และประชุม ครม. พิจารณาโครงการช่วยเหลือและผลักดันศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง 1

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า มีเป้าหมายมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ปรับปรุงสนามบิน เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น ๆ และเป็นการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 เพื่อรับฟังแนวทางการพัฒนาที่สำคัญทั้งการผลักดัน ให้เมืองบุรีรัมย์เป็นเมืองกีฬาหรือ "สปอร์ตซิตี้" และจัดตั้งมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ การสร้างศูนย์ทางการแพทย์ ตลอดจนการพิจารณาการของบประมาณสนับสนุน "งานโมโตจีพีไทยแลนด์" ในเดือน ต.ค.นี้

ตามกำหนดการนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่พบปะประชาชน โดยช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้ และจะพบกับนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พร้อมด้วยประชาชนกว่า 30,000 คน ท่ามกลางข้อสังเกตถึงนัยยะทางการเมือง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การลงพื้นที่ถือว่าเป็นเรื่องวาระการตรวจ และติดตามนโยบาย ส่วนจะเกี่ยวข้องกับปฏิกริยาทางการเมืองเรื่องการดึงหรือการดูด นักการเมืองและอดีต ส.ส. หรือไม่นั้น ยังต้องเกาะติดสถานการณ์ไป แต่หากนายกรัฐมนตรีอยากเห็นการปฏิรูปการเมืองใหม่ ก็ไม่ควรมีพฤติการณ์ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ทวิตเตอร์ ชี้ว่า การที่นักการเมืองเลือกพรรคสังกัดหรือย้ายพรรค เพราะมีนโยบายหรืออุดมการณ์ตรงกันเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ ไม่ผิด และไม่เสียหายแต่การไปดูดนักการเมืองอย่างที่ทำกันอยู่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะยังไม่ปรากฏว่าผู้ดูดเป็นพรรคอะไร มีนโยบายและอุดมการณ์อะไรจะว่านโยบายและอุดมการณ์ตรงกันย่อมไม่ได้

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า ประชาชนร้อยละ 50.94 จากกลุ่มตัวอย่าง มองว่าการดูดอดีต ส.ส. เป็นเรื่องปกติร้อยละ 24.82 มองว่าเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองแข่งขันกัน เพื่อเสนอผลประโยชน์ และร้อยละ 21.79 มองว่าเป็นเรื่องไม่สร้างสรรค์ ทำให้การเมืองไม่พัฒนา ร้อยละ 15.87 มองว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และร้อยละ11.83 มองว่าเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องการรักษาอำนาจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง