"ดีเอสไอ" ตรวจผลกระทบสวล.เหมืองทอง - จ่อฟ้องเพิ่ม 24 พ.ค.นี้

ภูมิภาค
18 พ.ค. 61
11:40
595
Logo Thai PBS
"ดีเอสไอ" ตรวจผลกระทบสวล.เหมืองทอง - จ่อฟ้องเพิ่ม 24 พ.ค.นี้
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่เหมืองทองคำ จ.พิจิตร พบสภาพน้ำในคลองยังเน่า มีกลิ่นเหม็น ชาวบ้านร้องให้หาคำตอบความเชื่อมโยงผลตรวจสุขภาพที่พบสารโลหะหนัก จ่อแจ้งข้อกล่าวหาตัวบุคคลเพิ่มอีก หลังประชุม 24 พ.ค.นี้

วานนี้ (17 พ.ค.2561) ไทยพีบีเอส ลงสำรวจปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่เหมืองทองคำ พบว่า สภาพน้ำในคลอง พื้นที่เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร โดยยังคงมีสีดำหลงเหลือให้เห็น หลังจากเคยเกิดปัญหาสารเคมีไม่ทราบที่มาไหลลงสู่คลองนี้ตั้งแต่เดือน พ.ย.2560

โดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้แนวพื้นที่ของเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัครารีซอร์สเซส

น้ำหวาน จงฟังเสนาะ ชาวบ้านหมู่ 8 ตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร บอกว่า ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าพบปัญหาน้ำมีสีดำ มีฟองเน่า ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ เป็นระยะทางยาวกว่า 800 เมตร พบปลาตายลอยเป็นแพ และพบว่าน้ำในคลองมีกลิ่นสารเคมีฉุน และหน่วยงานนำปูนขาวมาโรยแก้ปัญหาเบื้องต้น

 



การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ นำโดย นายพิเชษฐ์ ทองศรีนุ่น หัวหน้าชุดสอบสวน ผู้รับผิดชอบคดีเหมืองแร่ทองคำ ได้ให้ความสนใจและสอบถามชาวบ้านหลายคนนานกว่าครึ่งชั่วโมง เกี่ยวกับเหตุ การณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการตรวจสอบภาพรวมครั้งนี้ ยังได้ลงพื้นที่อื่นๆ รวม4 แห่ง หลังเกิดปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบเมื่อเดือนธ.ค.2560 และกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยผลสอบเดือนม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า พบสารโลหะหนัก แมงกานิส และนิเกิล

คาดสรุปผลสอบคดีเหมืองทำ ส.ค.นี้ 

การลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอครั้งนี้ ยังเดินทางไปขอเอกสารสำคัญ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาคดีที่ดีเอสไอ กำลังสอบสวน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของ บริษัทอัคราฯ และประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามที่กลุ่มชาวบ้านยื่นร้องเรียน

นางอารมณ์ คำจริง แกนนำภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรแร่ กล่าวว่า  ชาวบ้านต้องการให้ดีเอสไอขยายผลทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นหน่วยงานที่แสวงหาข้อเท็จจริง และชี้คำตอบให้กับชาวบ้านว่ามีการที่ผลตรวจสุขภาพาวบ้านมีสารโลหะหนัก แมงกานีส สารหนู และไซยาไนด์ อยู่ในร่างกาย 

 

 

นอกจากนี้ ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาบริษัทอัครารีซอร์สเซส ในฐานะนิติบุคคลไปแล้ว 3 ข้อกล่าวหาได้แก่ ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ทับพื้นที่ป่า รุกล้ำเขตทางหลวงแผ่นดิน และบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนประเด็นที่สอบสวนเพิ่มเติม ได้แก่ประเด็น การเปลี่ยนแปลงผังดำเนินการ และการขยายโรงประกอบโลหะกรรม ซึ่งวันที่ 24 พ.ค.นี้ ทีมสอบสวนของดีเอสไอ จะประชุมร่วมกัน และอาจมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

สำหรับการทำคดีของดีเอสไอ ยังต้องรวบรวมข้อมูลส่งมอบหลักฐาน และผลการสอบสวนต่างๆ ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลใช้ประกอบการพิจารณา กรณีที่บริษัท คิงเกตส์สัญชาติ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอัคราฯ ร้องเรียนต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และขั้นตอนอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกัน ท่ามกลางกระแสว่าบริษัท ขอประกอบกิจการในไทยได้ต่อไป ขณะที่กลุ่มชาวบ้านต้องการให้ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ได้รับการแก้ไขจริงจังก่อน โดยภาพรวมคดีนี้ทั้งหมด ทางดีเอสไอ คาดว่าจะสรุปได้ไม่เกินเดือนส.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง