5 ปี ขยะสารอันตรายพุ่ง 4 เท่า ทะลุ 16 ล้านตัน

สิ่งแวดล้อม
25 พ.ค. 61
11:26
15,727
Logo Thai PBS
5 ปี ขยะสารอันตรายพุ่ง 4 เท่า ทะลุ 16 ล้านตัน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี กากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมพุ่ง 4 เท่า ทะลุ 16 ล้านตัน แต่จัดการได้เพียงร้อยละ 10 ล่าสุด ปี2560 พบลักลอบขนกากเสียอันตรายในไทยถึง 7 ครั้ง

วันนี้ (25 พ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมของกลุ่มนายทุนชาวจีนที่ทำธุรกิจคัดแยกขยะอุตสาหกรรม โดยรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 100,000 ตัน จากประเทศพัฒนาแล้วมาทำลาย และย้ายฐานมายังประเทศไทย อาจสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากปริมาณกากอุตสาหกรรมในไทยเองก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าปริมาณกากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 37.4 ล้านตัน แบ่งเป็นกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย 2.8 ล้านตัน หรือร้อยละ 7.49 และกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 34.6 ล้านตัน หรือร้อยละ 92.51

จากสถิติ 5 ปี ย้อนหลัง ระบุว่า ปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 มีปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม 4,387,769 ตัน ขณะที่ปี 2556 มีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว คือ 10,150,937 ตัน ต่อมาในปี 2557 มีปริมาณ 12,322,492 ต้น ส่วนปี 2558 มีปริมาณลดลงเล็กน้อย 11,159,866 ตัน และในปี 2559 มีปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมพุ่งสูงขึ้นถึง 16,340,000 ตัน

ปริมาณกากของเสียพุ่ง จัดการได้เพียงร้อยละ 10

ปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การจัดการกลับไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมดแต่มีแนวโน้มการจัดการที่ดีขึ้น ในส่วนของการแจ้งขนส่งออกนอกบริเวณโรงงานไปจัดการในปี 2559 พบว่า เป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายที่สามารถจัดการได้ 1.12 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณที่เกิดขึ้น เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2558 จำนวน 0.97 ล้านตัน


โดยการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย พบว่า ประเภทการแปรใช้ในรูปพลังงานมีปริมาณสูงที่สุด คือ 0.34 ล้านตัน รองลงมาคือ การกำจัด 0.28 ล้านตัน แปรใช้ในรูปวัสดุ 0.25 ล้านตัน จัดการผ่านกระบวนการเพื่อใช้ซ้ำ 0.16 ล้านตัน ส่งไปจัดการนอกประเทศ 0.06 ล้านตัน และการบำบัด 0.05 ล้านตัน ส่วนกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย สามารถจัดการได้ 15.22 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 44 ของปริมาณที่เกิดขึ้น เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2558 เช่นเดียวกัน ในปริมาณ 13.99 ล้านตัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดการกากของเสียอย่างถูกต้องประมาณร้อยละ 10 โดยเป็นการเรียกคืนโดยผู้ผลิต เพื่อส่งไปแยกชิ้นส่วนในโรงงาน ผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้จะส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลและที่ไม่สามารถใช้งานต่อไปได้จะถูกส่งไปกำจัดทำลายอย่างถูกวิธีโดยการฝังกลบอย่างปลอดภัยหรือการเผาในเตาเผาต่อไป

ไทยพื้นที่รองรับ-ลักลอบขนกากของเสีย

ขณะที่สถานการณ์การจัดการกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมยังเป็นที่กังวลอยู่ กรมควบคุมมลพิษ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การนำเข้ากากของเสีย ประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมาย โดยในประเทศไทยพบ 4 กรณี

  • เดือนธันวาคม ปี 2544 มีการนำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ จากสหราชอาณาจักร จำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 23.45 ตัน และดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทางเมื่อเดือน ก.พ.2546
  • เดือนกันยายน ปี 2545 นำเข้าจอคอมพิวเตอร์ใช้แล้ว จากประเทศญี่ปุ่น 2 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 35.89 ตัน และได้กำจัดทำลายในประเทศต้นทางแล้ว เมื่อ ธ.ค.2545 โดยผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่าย
  • เดือนมกราคม ปี 2547 นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากประเทศญี่ปุ่น 7 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 46.2 ตัน ได้ส่งกลับประเทศต้นทางเมื่อเดือน ธ.ค.2548
  • เดือนสิงหาคม ปี 2557 นำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน จากประเทศญี่ปุ่น 8 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 196.11 ตัน ได้ส่งกลับประเทศต้นทางแล้วเมื่อเดือน ก.ค.2559


มีการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมใน ปี 2560 เกิดขึ้น 7 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดระยอง จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดชลบุรี เป็นการลักลอบทิ้งบริเวณบ่อดินเก่า และบริเวณข้างถนนที่เป็นเส้นทางขนส่งที่ลับตาคน การลักลอบทิ้งรวมกับบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยทั่วไป ส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากผู้ประกอบการที่รับขนส่งและกําจัด กากของเสียอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และโรงงานรับกําจัดและรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรมที่ลักลอบ ดําเนินการอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทําการตรวจสอบสืบสวนหาผู้กระทําผิด แจ้งให้ทําการ แก้ไขและขนย้ายเพื่อนําไปบําบัดและกําจัดให้เป็นไปอย่างถูกต้องต่อไป

นอกจากนี้ยังพบการลักลอบเคลื่อนย้ายข้ามแดนของกากของเสียอุตสาหกรรม อย่างผิดกฎหมาย จากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทยไปยังบริษัทในประเทศเนเธอร์แลนด์ประเทศไทยโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการประสานในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักตามอนุสัญญาบาเซลให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งจะเลือกใช้ การฝังกลบอย่างถูกหลักวิชาการในประเทศเนเธอร์แลนด์โดยงบประมาณของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จํานวน 11,297 ยูโร และจะดําเนินการทางคดีกับบริษัทตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ขยะไฮเทคภัยคุกคามมนุษย์-สิ่งแวดล้อมโลก

ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่สามารถจัดการกับปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่อาจมีแบตเตอรี่หรือปลั๊ก เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรทัศน์ ตู้เย็น และของเล่นที่ใช้ถ่านหรือไฟฟ้า มหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า สิ่งเหล่านี้ “กำลังเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์”


ในปี พ.ศ. 2559 ทั่วโลกผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณทั้งสิน 44.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นราว 3.3 ล้านตัน หรือราวร้อยละ 8 เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ศ. 2557 ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 17 เป็น 52.2 ล้านตัน ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2559 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียงร้อยละ 20 หรือราว 8.9 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล

 

ภาพ: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ผวามะเร็ง ! ควันพิษเตาหลอมตะกั่ว โรงงานกำจัดขยะเถื่อน

จ่อฟ้องแพ่ง "ค่าเสียหายสิ่งแวดล้อม" ขยะจีนซุกไทย 1 แสนตัน

ปักหมุดจังหวัดเสี่ยง ลักลอบทิ้งขยะอันตราย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง