หุ่นยนต์เหล็ก ประติมากรรมสร้างสรรค์จากขยะ

สังคม
25 พ.ค. 61
16:11
6,267
Logo Thai PBS
หุ่นยนต์เหล็ก ประติมากรรมสร้างสรรค์จากขยะ
จากความชื่นชอบของเล่นในวัยเด็ก และการออกแบบประดิษฐ์คิดค้นและความชอบทางด้านศิลปะ นำไปสู่การสร้างสรรค์ประติมากรรมจากเศษเหล็กและอะไหล่เก่าจากเครื่องยนต์ จนสามารถต่อยอดมาเป็นบ้านหุ่นเหล็ก ซึ่งเป็นทั้งโรงงานผลิตและสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของ จ.อ่างทอง

นายไพโรจน์ ถนอมวงษ์ เจ้าของบ้านหุ่นเหล็ก เปิดเผยว่า เริ่มสร้างประติมากรรมหุ่นยนต์จากเศษเหล็กและอะไหล่เก่าจากเครื่องยนต์มาตั้งแต่ปี 2543 ที่พัทยา จ.ชลบุรี เนื่องจากมีความชอบในหุ่นยนต์ ของเล่น และศิลปะมาตั้งแต่สมัยเด็กแล้ว ประกอบกับจบวิศวะเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ตัวแรกที่ทำไม่ใช่หุ่นยนต์กลับเป็นรถมอเตอร์ไซค์เหล็กตั้งโชว์คันจิ๋ว และเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วไม่ค่อยมีใครทำ พอทำออกมาแล้วมีคนชอบและมาซื้อไป และสนุกด้วยจึงมีแรงทำ

 

 

 


สำหรับหุ่นยนต์จะใช้เศษเหล็กและวัสดุรีไซเคิลประมาณ 80% ซึ่งซื้อมาจากร้านของเก่า อู่ซ่อมรถ เครื่องตัดหญ้าเก่า หรือแหล่งแกะเครื่องยนต์ขาย ซึ่งคอนเซ็ปต์ยังเหมือนเดิม แต่ว่าอาจจะมีของหลากหลายกว่าเมื่อก่อน ซึ่งจะหาจากร้านเจ้าประจำและมีคนมาส่ง ส่วนอีก 20% จะเป็นเหล็กใหม่และเหล็กแผ่นที่ใช้ทำเป็นแกนและท่อ

ขยะเศษเหล็กสร้างสรรค์-สร้างรายได้ 


ส่วนบ้านหุ่นเหล็ก เพิ่งมาใช้ชื่อนี้เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากย้ายจาก จ.ชลบุรี มาอยู่บ้านเกิดใน จ.อ่างทอง และสร้างโรงงานผลิตหุ่นยนต์ส่งออก และได้ตั้งชื่อนี้เพราะสร้างบ้านติดกับถนนสายเอเชีย ช่วงแรก เมื่อสร้างหุ่นยนต์และนำมาตั้งริมถนน จึงมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาดูและถ่ายรูป ต่อมาจึงปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบัน มีหุ่นยนต์ต้นแบบขนาดใหญ่ประมาณ 100 ตัว ที่ทำไว้ตั้งโชว์โดยเฉพาะ มีทั้งหุ่นยนต์ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ยานอวกาศ สัตว์ และเฟอร์นิเจอร์

 

 


นายไพโรจน์ กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่ทำขึ้นมีหลากหลายขนาดปะปนกันไป ตั้งแต่ที่ทับกระดาษขนาดเล็กไปจนถึงหุ่นยนต์ขนาด 2 เมตรขึ้นไป ราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสน แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้ทำงานชิ้นเล็กแล้ว เพราะต้องนำช่างเชื่อมไปประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลามากกว่านั่นเอง โดยจะส่งไปขายต่างประเทศประมาณ 60-70% เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ส่วนญี่ปุ่นแทบไม่ได้ส่ง เพราะจะต้องการงานละเอียด ซึ่งทำยาก ส่วนลูกค้าในประเทศนิยมสั่งซื้อไปตกแต่งร้านอาหาร ร้านค้า ร้านกาแฟ โรงงาน โรงแรม และผับ


สำหรับผลงานที่ภูมิใจจะเป็นชิ้นงานแทบทุกชิ้น เพราะส่วนใหญ่ต้นแบบจะทำเองร่วมกับช่างเชื่อม ซึ่งจะผ่านมือทั้งหมด และทุกชิ้นงานมาจากความชอบก่อนถึงจะทำ ส่วนระยะเวลาในการสร้างหุ่นยนต์ ถ้าเป็นชิ้นแรก หรือหุ่นยนต์ต้นแบบจะใช้เวลานานทุกชิ้น ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำทุกวัน บางชิ้นอาจจะคิดไม่ออก อาจจะเว้นไว้สัก 2-3 วันแล้วมาทำ เลยใช้เวลานาน


ส่วนชิ้นที่ 2 หรือชิ้นงานก็อปปี้จะใช้เวลาเร็วกว่า ถ้าต้องทำ ส่วนใหญ่จะนำมาประยุกต์อีกนิดหน่อยก็ใช้ได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าจะเห็นจากตัวที่ตั้งโชว์ไว้และสั่งทำ ดังนั้น งานก็อปปี้จะใช้เวลาเร็วกว่าและราคาถูกกว่างานชิ้นใหม่ที่เป็นต้นแบบ ที่จะมีค่าไอเดียอยู่ บางทีลูกค้าสั่งชิ้นเดียวและไม่กลับมาสั่งอีกเลย จึงต้องคิดค่าเสียเวลาไป

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง