เปิดปม : ฮัลโหล 200 ล้าน - อวสานคอลเซ็นเตอร์

27 พ.ค. 61
13:03
1,698
Logo Thai PBS
เปิดปม : ฮัลโหล 200 ล้าน - อวสานคอลเซ็นเตอร์
แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน-ล้วงข้อมูลส่วนตัว เพียง 17 เดือนที่ผ่านมามีผู้เสียหายสูญเงินแล้วกว่า 200 ล้านบาท
ทุกอย่างเลยบัญชีทุกอย่าง แม้กระทั่งบัตรเครดิต เงินสด เขาถามก่อนว่า เรามีสมุดบัญชีเงินฝากไหม มีธนาคารไหนบ้าง เราก็บอกหมดเลย เขาขอเลขบัตรประชาชน เขาบอกว่าจำเป็นต้องรู้ เพราะว่าจะได้ช่วยได้ ไม่งั้นบัญชีทุกอย่างของเราจะถูกแบงค์ชาติอายัติ

หญิงวัยเกือบ 80 ปี ยอมเปิดใจหลังสูญเงิน 150,000 บาทให้เครือข่ายคอลเซ็นเตอร์เมื่อเดือนมีนาคม 2561

วันนั้นเธออยู่บ้านคนเดียว มีโทรศัพท์จากบุคคลที่อ้างตัวเป็นพนักงานไปรษณีย์จังหวัดขอนแก่นโทรเข้าไปที่เบอร์โทรศัพท์บ้าน แจ้งว่าตรวจพบว่าสิ่งของในกล่องพัสดุที่มีชื่อของเธอเป็นผู้ส่ง อาจเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาคดียาเสพติด ทำให้ตำรวจต้องตรวจสอบทรัพย์สินของเธอ

 

สายสนทนาถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่อ้างตัวเป็นตำรวจ ซึ่งแนะนำให้เธอโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่เชื่อถือได้ว่าปลอดภัยจากการถูกตรวจสอบ

ทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลารวดเร็ว เธอไม่มีเวลาแม้แต่จะตั้งสติว่าเคยส่งพัสดุชิ้นนั้นหรือไม่ ข้อมูลส่วนตัวถูกส่งต่อไปยังบุคคลแปลกหน้าปลายสาย จนได้ข้อสรุปว่าเธอจะถอนเงิน 150,000 บาทจากสลากออมสิน โอนไปไว้ที่บัญชีที่บุคคลในโทรศัพท์แนะนำ

“เขาให้ไปถอนสลากออมสินฉบับ 150,000 บาท แล้วเอามาเข้าบัญชีกองกลาง คือบัญชีนี้เขามีคนที่เป็นพนักงานซี 5-ซี 6 อยู่ที่แบงก์ชาติ เขาบอกคนนี้เป็นคนซื่อสัตย์มาก ไม่เคยเอาความลับใครไปพูด เขาบอกว่าให้โอนเข้าบัญชีของคนนี้ คนที่เขาแนะนำ”

นั่นคือจุดจบที่ทำให้เธอสูญเงินจำนวนนั้นให้กับเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์

 

อีกรายหนึ่งเป็นข้าราชการบำนาญวัย 76 ปี ผู้เสียหายโอนเงินจำนวน 500,000 บาทเข้าบัญชีเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ ลูกสาวของผู้เสียหายคนนี้เปิดเผยว่า วันนั้นแม่อยู่บ้านคนเดียว ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่อ้างตัวเป็นพนักงานไปรษณีย์จังหวัดขอนแก่น ก่อนส่งต่อให้คุยกับบุคคลที่อ้างตัวเป็นตำรวจระดับสารวัตร คนกลุ่มนี้บอกกับแม่ของเธอว่า ขอตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด มีการขอข้อมูลส่วนตัว ขอให้รวบรวมเงินไปเปิดบัญชีธนาคารในชื่อของตัวเอง แต่สุดท้ายเงินก็ถูกโอนออกไปจนเกือบหมดเหลือติดบัญชีอยู่เพียง 965 บาท

“มันเป็นขั้นตอนง่ายๆ ง่ายมากที่จะหลอกคนแก่ กำหนดรหัสโดยใช้เลข 6 ตัวหลังของบัตรประชาชนของแม่ ซึ่งเขารู้อยู่แล้วว่าเลข 6 ตัวหลังของบัตรประชาชนของแม่คืออะไร คือจับเสียงได้ว่าเป็นคนแก่ อยู่คนเดียว ความไม่รู้เท่าทัน เขาให้เอากระเป๋าไว้ข้างตัวตลอด เอาโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าไม่ต้องเอาออกมา ไม่ต้องให้ใครรู้ว่ามีการติดต่อกับตำรวจ เพราะตอนนี้ตำรวจดำเนินการอยู่ นี่คือสิ่งที่บอกว่าหลอกคนแก่เท่านั้นแหละ มันเลวมากเลยนะ ” ลูกสาวข้าราชการบำนาญกล่าว

 

ตั้งแต่ปี 2560 ถึงพฤษภาคม 2561 มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ทั่วประเทศ 421 คดี มูลค่าความเสียหายมากกว่า 200 ล้านบาท

ข้อมูลจากศูนย์ปราบปรามคอลเซ็นเตอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า พฤติกรรมของเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์จะใช้ข้อมูลลวง กล่าวอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ไปรษณีย์ ตำรวจ ดีเอสไอ ป.ป.ง. หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้เสียหายเกิดความหวาดกลัว ผ่านระบบ voip หรือ โทรศัพท์ผ่านเครื่องแปลงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่สามารถกำหนดหมายเลขได้ตามต้องการ

 

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ประเทศไทยเปิดปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ 5 แห่งใน 4 ประเทศ ประกอบด้วย จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย และ กัมพูชา ที่มีชาวไต้หวันเป็นตัวการใหญ่ และมีคนไทยร่วมขบวนการอีก 87 คน

มันเป็นแบรนด์เนม มันเป็นรูปแบบธุรกิจ การหาเงินของเขาคือการโทรหลอก นี่คือธุรกิจ

พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ ผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 บอกกับไทยพีบีเอสหลังการกวาดล้างเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าบนปลายยอดของโครงสร้างของเครือข่ายดังกล่าวคือ นายทุนที่คาดว่ามีอยู่ไม่เกิน 10 คนและทั้งหมดเป็นคนไต้หวัน เพื่อหยุดความเสียหายจากเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์อย่างถาวร มีการขออนุมัติหมายจับสากลจับกุมชาวไต้หวันระดับตัวการสำคัญ 8 คน ขณะนี้สามารถจับกุมได้แล้ว 4 คน

 

“เราเดินมาถูกทางแล้ว ขณะนี้ต้องจับคนไทยให้ได้ทั้งหมดจะได้ไม่กล้าทำความผิด เพราะในการกระทำความผิดคอลเซ็นเตอร์ ถ้าคนไทยไม่ให้ความร่วมมือซะอย่าง ไม่เปิดบัญชี ไม่ขายบัญชี ไม่เป็นม้ากดเงิน คนต่างชาติก็มาหลอกคนไทยในดินแดนไทยไม่ได้” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กล่าวทิ้งท้าย

รับชมรายการฉบับเต็มได้ที่ รายการเปิดปม ตอน อวสานคอลเซ็นเตอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง