ทช.ฟังเสียงชาวเกาะพะงัน ก่อนนำร่องนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมทำจุดวางปะการังเทียม

สิ่งแวดล้อม
29 พ.ค. 61
12:47
882
Logo Thai PBS
ทช.ฟังเสียงชาวเกาะพะงัน ก่อนนำร่องนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมทำจุดวางปะการังเทียม
ทช.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ถึงการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมเพื่อการอนุรักษ์ บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยเป็นพื้นที่แรกในการทดลอง

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น “การจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมเพื่อการอนุรักษ์ บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี” ในระหว่างวันที่ 28-29 พ.ค.61 โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มประมง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม

 

 

นายจตุพร กล่าวว่า การจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในระยะแรก จำนวน 8 แท่นตั้งอยู่บริเวณ ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ดังกล่าวมีขนาด 2 x 2 ตร.กม.อยู่ห่างจากเกาะพะงันเป็นระยะทางประมาณ 8 ไมล์ทะเล และจากหินใบประมาณ 7 ไมล์ทะเล นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่จะเป็นพื้นที่วางด้วย

เหตุผลในการเลือกพื้นที่เกาะพะงัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เห็นว่ามีความเหมาะสม โดยเคยมีโครงการต้นแบบในการวางโครงสร้างเหล็ก ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำ ของเกาะพะงัน มาตั้งแต่เดือน ก.ย.56 ซึ่งจากการที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการติดตามอย่างต่อเนื่อง พบว่าประสบผลสำเร็จทั้งด้านระบบนิเวศ ความเหมาะสมของวัสดุ รูปแบบการจัดวาง การเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้ง การใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว การประมง โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ ผลจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้ง 2 ครั้ง ที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และเกาะพะงัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เพื่อให้ได้รับทราบและมอบนโยบาย แนวทางปฎิบัติในการจัดทำโครงการการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

 

 

นายภัทรชัย เรืองศรี กลุ่มดอกไม้ทะเลเพื่อการอนุกรักษ์เกาะพะงัน กล่าวว่า เห็นด้วยกับการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมมาใช้เป็นแนวจัดวางปะการังเทียมเพราะจะช่วยให้การทำประมงได้ดีขึ้น เพราะเกาะพะงันอยู่ด้วย 2 ขา คือการทำประมงและการท่องเที่ยวซึ่งหากมีปะการัง อาหารปลาก็จะมาก็จะช่วยเรื่องการทำประมงได้

ด้านนายจรินทร์ เฉยเชยชม ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง กล่าวว่า ต้องการทราบถึงการดูแลในระยะยาวต่อไป หากมีปัญหาหน่วยงานใดจะรับผิดชอบ เช่น เหล็กเสื่อมสภาพ และความปลอดภัยของอาหารทะเล อาหารทะเลจะมีสารปนเปื้อนหรือไม่ และอยากให้ข้อมูลทั้งด้านบวกและด้านลบให้ชุมชนสามารถมาชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจ

 

แท่นผลิตปิโตรเลียมประเภท 4 ขา

แท่นผลิตปิโตรเลียมประเภท 4 ขา

แท่นผลิตปิโตรเลียมประเภท 4 ขา

 

นายศุภิชัย ตั้งใจตรง ประธานคณะทำงาน การกำหนดมาตรฐานการวางปะการังเทียม อนุกรรมการทรัพยากรทางทะเล กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีความกังวล 2 ด้าน คือ การเสื่อมสภาพของเหล็กและการปิดหลุม ซึ่งขาแท่นผลิตปิโตรเลียมใช้เหล็กที่คุณภาพสูงจึงยากต่อการเสื่อมสภาพ ขณะที่แท่นส่วนบนและท่อในการรื้อถอนจะนำขึ้นบกทั้งหมดเพราะอาจมีสารปนเปื้อนโดยดำเนินการตามมาตรฐานสากล

ขณะที่การปิดหลุมจะดำเนินการโดยกระบวนการที่ได้มาตรฐานสากลเช่นเดียวกันหากมีการรั่วไหลจะกระทบน่านน้ำสากล กระบวนการเหล่านี้จึงต้องใช้มาตรฐานสากลเช่นเดียวกับที่ดำเนินการในประเทศอินโดนีเซีย

 

 

สำหรับการทดลองวางแนวปะการังบริเวณเกาะพะงัน ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้พบว่ามีสิ่งมีขีวิตเกาะติดบริเวณแท่นเหล็ก ซึ่งการนำแท่นที่ปลดระวางซึ่งมีชีวิตเกาะบริเวณขาแท่นจะดำเนินการโดยใช้เรือลากมาวางในจุดที่กำหนด พื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีความลึกที่เหมาะสมและเมื่อวางจุดก็จะประกาศให้ขาวประมงและผู้เดินเรือทราบและติดทุ่นเพื่อแสดงสัญลักษณ์เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ

ทั้งนี้ ขาแท่นผลิตปิโตรเลียม ประมาณ 300 กว่าแท่น กำลังจะหมดสัมปทานในช่วง 2-3 ปีนี้ และหากการรับฟังความคิดเห็นข้อสรุปว่าประชาชนเห็นด้วยก็จะดำเนินการย้ายขาแท่นผลิตปิโตรเลียม 8 แท่นแรกมายังจุดที่กำหนดในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย.62

ข่าวที่เกี่ยวข้อง