สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรมวันวิสาขบูชา "สัมมาสติ" รู้เท่าทันกาย วาจา ใจ

สังคม
29 พ.ค. 61
13:22
1,008
Logo Thai PBS
สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรมวันวิสาขบูชา "สัมมาสติ" รู้เท่าทันกาย วาจา ใจ
สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ยึด "สัมมาสติ" ให้รู้เท่าทันกาย วาจา และใจของตน

วันนี้ (29 พ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2561 ความว่า

“ดิถีวิสาขบูชาเวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว นอกจากพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า จักได้บูชาพระรัตนตรัยเป็นกรณีพิเศษ ยังเป็นวาระเฉลิมฉลองของชาวโลกตามที่องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของโลก นับเป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนให้เราทั้งหลายรู้เท่าทันจิตใจของตนเองอยู่ตลอดเวลา ความรู้เท่าทันดังกล่าวนี้ คือการรู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา หากแต่เป็นสภาวะที่เกิดและดับ สลับกันไปมิรู้จบสิ้น ความไม่รู้เท่าทันสภาวะเช่นนี้เองที่อำพรางให้คนเราคิดผิด เปรียบเสมือนการใช้เวลาตลอดชีวิต เพื่อชมมายากลโดยมิรู้เท่าทันว่าภาพอันดำเนินต่อเนื่องนั้นเป็นเพียงมายาที่ลวงตาทั้งสิ้น

ถ้าเมื่อใดบุคคลมีความรู้แจ้งในสภาพทุกข์ ความเปลี่ยนแปลง และความว่างจากตัวตน เขาย่อมสามารถละความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่ล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตัวได้ อย่างไรก็ตาม การจะละคลายความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากขาดสภาพธรรมะที่เรียกว่า ‘สติ’ ความทุกข์ยากในโลกมนุษย์ที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากภาวะขาดสติด้วยกันทั้งสิ้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงประทานพระบรมพุทโธวาทไว้ว่า ‘สติ เป็นเครื่องตื่นอยู่ในโลก’ เพราะฉะนั้น บุคคลใด ครอบครัวใด ชุมชนใด และสังคมใด ปรารถนาจะประสบสันติสุขอันไพบูลย์ บุคคลนั้น ครอบครัวนั้น ชุมชนนั้น และสังคมนั้น จำเป็นต้องสั่งสมภาวะแห่งการตื่นรู้ เพื่อจักได้รู้เท่าทันการคิด การพูด และการกระทำ ด้วย ‘สัมมาสติ’ อันเป็นหนทางไปสู่ปัญญา นำมาซึ่งความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ได้ อย่างแท้จริง

​เนื่องในดิถีวิสาขบูชา ขอเชิญชวนท่านสาธุชนทั้งหลาย จงอย่าได้ละเลยการอบรมเจริญสติ ให้รู้เท่าทันกาย วาจา และใจของตน อันจักได้ชื่อว่าเป็นการกระทำหน้าที่ชาวพุทธ ได้ปฏิบัติบูชาตามที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ และเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้ยั่งยืนอยู่คู่โลกนี้สืบไป ตราบกาลนาน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง