กั๊กที่นั่ง-ไม่มีตัวสำรอง TCAS รอบ 3

สังคม
30 พ.ค. 61
11:36
2,957
Logo Thai PBS
กั๊กที่นั่ง-ไม่มีตัวสำรอง TCAS รอบ 3
บรรณาธิการข่าวการศึกษา DekD.com ระบุว่า ทางออกจบปัญหาทีแคส (TCAS) รอบ 3 คือการใช้ระบบตัวสำรอง เพื่อเพิ่มโอกาสผ่านการสอบคัดเลือก

วันนี้ (30 พ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบทีแคส (TCAS) มีการคัดเลือก 5 รอบ โดยล่าสุด เป็นการคัดเลือกในรอบที่ 3 หรือการรับตรงร่วมกัน ซึ่งกำหนดการเดิม เปิดรับสมัครและคัดเลือกระหว่างวันที่ 9-13 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่การเปิดรับสมัครช่วงแรกมีผู้สมัครเป็นจำนวนมากจนเว็บไซต์ล่ม จึงขยายเวลารับสมัครและคัดเลือกถึงวันที่ 19 พ.ค.โดยการสมัครและคัดเลือกรอบนี้ ผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 สาขา โดยไม่มีลำดับ หมายความว่า 4 สาขาวิชาที่สมัครมีโอกาสผ่านการคัดเลือกทั้งหมดหากคะแนนสูง

หลังการประกาศผลการคัดเลือก ผู้สมัครจะต้องเลือกเพียง 1 สาขา ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องยืนยันการสอบสัมภาษณ์ ภายในวันที่ 3 มิ.ย. เท่ากับเป็นการสละสิทธิใน 3 สาขาที่เหลือ ซึ่งจะถูกนำไปรวมกับการคัดเลือกรอบที่ 4 โดยต้องยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์

กรณีผู้ได้คะแนนสูงและผ่านการคัดเลือกทั้ง 4 สาขา กลายเป็นปัญหาใหญ่ในการกันที่นั่งอีก 3 สาขาที่เหลือ เพราะไม่มีระบบตัวสำรอง จึงทำให้ผู้ที่ได้คะแนนปานกลางค่อนสูง ซึ่งต้องการจะเข้าเรียนใน 3 สาขาดังกล่าวไม่ถูกคัดเลือก เช่น นายเอ ได้คะแนน 30,000 คะแนน เลือก 4 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ โดยนายเอเลือกวิศวกรรมศาสตร์ ขณะที่ 3 สาขาที่เหลืออยู่ไม่ได้พิจารณาผู้มีคะแนนในลำดับต่อไป แต่จะนำที่นั่งของทั้ง 3 สาขา ไปรวมกับการการคัดเลือกรอบที่ 4 หรือรอบแอดมิชชั่นต่อไป

เช่นเดียวกับกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการประกาศผล เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (กสพท.) สามารถยื่นคะแนนและผ่านการคัดเลือกสาขาที่อยู่เหนือจาก กสพท. จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ “กั๊กที่นั่ง” ผู้ที่อยากศึกษาต่อในสาขานั้นอย่างแท้จริง เช่น กรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ ชื่อ “ไม่มีตัวตน” โพสต์ข้อความว่า “ลองเอาอันดับคณะเศรษฐศาสตร์มาตัดพวกที่ติด กสพท. ดู ยิ่งตอกย้ำว่าระบบนี้มีความผิดพลาดใหญ่อยู่สองประการคือ การรวม กสพท. ไว้ในรอบนี้ และการที่ยื่นแล้วติดทุกอันดับ จริงๆ ปัจจัยแรกก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลยนะ ถ้าไม่มีปัจจัยที่สอง ใครที่พลาดรอบนี้ไปก็อย่าเพิ่งโทษตัวเอง พวกเธอยังมีหวัง”

ขณะที่การคัดเลือกรอบที่ 4 คือ การรับแบบแอดมิชชั่น (Admission) ใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือก ต่างจากรอบที่ 3 เพราะรอบที่ 3 ใช้คะแนนจาก 3 ส่วน ได้แก่ GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ, และวิชาเฉพาะของมหาวิทยาลัย (แต่ละคณะเป็นผู้กำหนด) แต่การคัดเลือกรอบที่ 4 ใช้คะแนน GAT/PAT, GPAX (เกรดเฉลี่ยสะสม ม.4-ม.6) และ O-Net ซึ่งผู้สอบเชื่อว่าไม่เป็นธรรม เพราะจะต้องนำเกรดเฉลี่ยมาพิจารณา และการสอบ 9 วิชาสามัญไม่ได้นำมาคิดรวมด้วย 

"ระบบตัวสำรอง" ทางออก TCAS รอบ 3

นายมนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษา DekD.com กล่าวว่า ช่องว่างของระบบทีแคสรอบ 3 คือการไม่มีระบบตัวสำรอง ทำให้เด็กที่มีคะแนนสูงเท่านั้นจึงจะมีที่เรียน ส่วนเด็กที่มีคะแนนต่ำกว่าจะต้องไปคัดเลือกต่อในรอบ 4 ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรมกับเด็กที่ตั้งใจและเตรียมพร้อมในการสอบรอบ 3

เด็กส่วนใหญ่ต้องการให้ ทปอ.ใช้ระบบตัวสำรองในการแก้ปัญหา รวมถึงควรแจ้งลำดับสำรองด้วย เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกคณะได้ง่ายขึ้น

นายมนัส ระบุว่าจุดอ่อนของระบบการคัดเลือกที่ไม่มีการเรียกตัวสำรอง ทำให้เด็กที่ต้องการเรียนแพทย์กลายเป็นจำเลยของสังคม ทั้งๆ ที่พวกเขาใช้สิทธิ์ตามที่ระบบกำหนด

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

"ทปอ." ยังไม่สรุป TCAS 3/2 รอประกาศบ่าย 3 โมง

TCAS วุ่น ม.6 ร้องแก้ปัญหา "กั๊กที่นั่ง" เปิดรอบ 3.2

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง