เกิดอะไรขึ้น? เมื่อ AI อยู่ใกล้คนไทยแค่เอื้อม

สังคม
31 พ.ค. 61
19:03
8,325
Logo Thai PBS
เกิดอะไรขึ้น?  เมื่อ AI อยู่ใกล้คนไทยแค่เอื้อม
ศาสตราจารย์ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย วิเคราะห์ทางรอด -ทางเลือก เมื่อ AI อยู่ใกล้ตัวคนไทยแค่เอื้อม ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นโลกของระบบดิจิทัล

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์ธนารักษ์ ธีระมั่นคง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ที่จะช่วยฉายภาพของสังคมไทยในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ AI จะเข้ามาแย่งงาน

สังคมดิจิทัลจะมาก่อน จากนั้นจะเป็น AI ก็จะมาทับอีกที สังคมดิจิทัล ที่เห็นในขณะนี้ก็พวกธนาคารที่เริ่มเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนวิถีชีวิตแทนที่จะไปธนาคาร ก็เปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชันบนมือถือทำให้คนที่จะใช้ในอุตสาหกรรมนั้นก็จะน้อยลง หรือในโรงงานที่นำหุ่นยนต์มาช่วย ก็บางส่วนเป็น AI แต่มองว่าเป็นดิจิทัลทำให้มองว่าไม่จำเป็นต้องมีคนแล้ว  ที่เห็นได้ชัดในโรงงานผลิตยางรถยนต์ใน จ.ระยอง ของชาวจีน มีคนเพียง 6 คน ในโรงงาน นอกนั้นเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด เมื่อถึงยุคนั้น คนก็จะเป็นผู้ที่ควบคุมท่านั้น ผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้ก็จะต้องผันตัวไปในใช้ทักษะที่สูงขึ้น

กลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบอันดับแรก

กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก กลุ่มสุขภาพ การท่องเที่ยว การเกษตร และเรื่องของการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาจะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงการท่องจำ แต่เป็นการใช้ทักษะมากขึ้น การเรียนในสายอาชีพ จะยังมีโอกาสแต่ในสายสามัญอาจจะยากขึ้น

การเรียนในสายสามัญจะได้รับผลกระทบอย่างไร

เครื่องจักรหรือ AI จะเข้ามาแทนได้ในหลายๆเรื่อง ยกเว้นจะเป็นระดับสูง แต่ในระดับทั่วไปก็มีความเสี่ยงสูง คนในวงการเริ่มมีความกลัว เช่นการเรียนบัญชี ที่คอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่ได้ค่อนข้างมาก เครื่องสามารถคำนวณให้ ขณะนี้มีผู้คิดค้นให้เครื่องสามารถทำบัญชีได้ตั้งแต่ต้นจนจบ รับรู้ได้ว่าบิลเข้ามาเมื่อไหร่ ยอดบิลเท่าไหร่ ก็นำเข้าระบบได้เลย โดยที่คนไม่ต้องมานั่งคีย์เข้าระบบ เพียงแค่นำบิลเข้าระบบเท่านั้น ในไทยมีผู้ที่กำลังทำอยู่ ส่งผลให้คนเรียนด้านบัญชีก็มีความกังวลว่าเมื่อเรียนจบไปจะยังมีงานมากน้อยแค่ไหน คือในสายสังคมศาสตร์จะได้รับผลกระทบ เมื่อเครื่องเข้ามาทำแทนได้ ในประเภทการคำนวณง่ายๆ มีกฎที่แน่นอน

หรือในทางกฎหมายก็มีแนวโน้มว่าจะถูกเข้ามาทดแทน เพราะกฎหมายมีกฎตายตัวเพียงกรอกข้อมูลเข้าไปก็สามารถทำแทนได้ คอมพิวเตอร์ก็จะหาทางเลือกที่จะช่วยในการสู้คดีให้มากที่สุด เช่นการตรวจหามาตรา และข้อกฎหมายต่างๆ หรือสอบถามหาหลักฐานในการช่วยทำคดี เพียงหาข้อมูล หลักฐานมันก็จะช่วยคำนวณว่าเราจะพูดอย่างไร หาหลักฐานแบบไหน ซึ่งจะมีเหตุผลในการอ้างอิงได้ทั้งหมด แนวโน้มคือ ต่อไปก็มีคอมพิวเตอร์คนละเครื่อง ก็มาวางแล้วให้สู้คดีกัน เมื่อสู้กันมากขึ้นก็จะเก่งขึ้น พัฒนามากขึ้นไปอีก คล้ายกับการเล่นหมากล้อมที่ให้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องสู้กันโดยมีกฎ คือการวางหมากสีขาวสีดำ เมื่อผ่านหลายเกมระบบก็พัฒนาขึ้น ก็คล้ายกับกฎหมายที่ก็จะมีการพัฒนาไปมากขึ้น เมื่อมีการว่าความหลายครั้งขึ้น เพื่อนำไปสู่ชัยชนะ ซึ่งจุดที่แตกต่างกับคนคือ คนอาจบกพร่อง หรือหลงลืมไปได้ แต่เครื่องจะไม่ลืม และจะยิ่งเก่งขึ้น โดยอาจจะเพียงตอบคำถาม จากนั้นเครื่องก็จะประมวลหาทางเลือกในการสู้คดีและแนวโน้มของคดีให้

อุตสาหกรรมหนักจะได้รับผลกระทบอย่างไร

ช่วงแรกอาจจะเข้ามาแทนที่ในการหยิบจับอะไรง่าย แต่ตอนนี้ก็จะทำงานที่ใช้ทักษะมากขึ้นเช่นการพ่นสี การเติม การขันน็อต เช่น โรงงานประกอบจอโทรทัศน์ ที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมดทำจอโทรทัศน์ได้โดยไม่ต้องใช้คน เป็นเทคโนโลยีล้วนในโรงงาน มีพนักงานเพียง 5-6 คน แค่นี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นส่วนซ่อมบำรุงและมอนิเตอร์เท่านั้น

จากนี้ไปโรงงานที่ใช้แรงงานคนจะเหลืออีกเท่าไหร่

ก็จะเหลือเพียง 10-20 % ในกลุ่มของงานง่ายๆ ก็จะหายไปก่อน สำหรับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมตัวงบประมาณ อาจจะไม่ได้ลดมาก แต่ดีตรงที่ไม่ผิดพลาด เพราะคนมีความผิดพลาดแต่เครื่องไม่ผิดพลาด เมื่อไม่ผิดพลาด ผู้บริโภคที่ได้รับของไปก็จะไม่ผิดหวังสินค้า คุณภาพก็จะสูงขึ้น ผู้ดูแลก็ไม่ต้องมีปัญหาในการจัดการกับคนงาน ความผิดพลาดจากคนจะไม่มี เพราะจะมีการโปรแกรมและทดสอบตั้งแต่ต้นทาง ก่อนเริ่มดำเนินการผลิต จากนั้นก็เป็นเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพระหว่างการผลิต และหุ่นยนต์ทำงานในตลอด 24 ชม.

ในไทยจะถูกเข้ามาแทนระยะเวลาอีกนานหรือไม่

 ประเทศไทยเป็นสังคมเปิดนอกเหนือจากการนำเข้าแรงงาน และเมื่อเห็นต่างชาติเช่นประเทศจีน ที่เริ่มใช้ หุ่นยนต์ เข้ามาแล้ว หากในไทยเห็นว่าดี ก็จะเริ่มนำเข้ามา หรือทำตามแล้ว แต่ของไทยจะเป็นช่วงของการทดลอง หากทำได้ดีตอนเริ่มก็จะกลายเป็นกระแสที่พลิกให้วงการมันเปลี่ยนไป เหมือนกับกล้องดิจิทัลที่มาแทนกล้องฟิล์ม ดังนั้นเมื่อถึงจุดที่ที่คุ้มทุนแล้ว มันจะมาเร็วเพราะทำได้เยอะ ทุกโรงงานก็จะเป็นระบบอัติโนมัติทั้งหมดมากขึ้น คนที่อยู่ในสังคมก็จะผันตัวไปทำอย่างอื่นมากขึ้น เช่น ช่างซ่อมที่ไม่ใช้เป็นการผลิตจำนวนมาก เช่นช่างซ่อมรถยนต์ ช่างซ่อมท่อ แต่จะไม่ใช่การผลิตท่อแล้วเพราะอุตสาหกรรมผลิตจำนวนมากได้

หรืองานแฮนด์เมดที่มีคุณค่าทางจิตใจ ก็จะยังอยู่ได้ พวกงานที่เกิดจากความเชี่ยวชาญ คนควรที่จะผันตัวไปในแนวทางนี้ ที่สำคัญต้องเข้ากับเทคโนโลยีจากเดิมที่ใช้คนก็จะใช้เครื่องจักรแทน การใช้เทคโน โลยี จึงเป็นเรื่องสำคัญให้คนนั้นจะยังอยู่ในส่วนของงานได้ เพราะขณะนี้โปรแกรมเกิดขึ้นมากมาย เหมือนกับว่ายุคนี้ คนที่ใช้อีเมล์ไม่เป็นคงไม่ได้ ใช้ไลน์ไม่เป็นคงไม่ได้ เพราะคุณจะทำงานได้เพียงส่วนที่ไม่ใช่เทคโนโลยี และช้า และเครื่องก็อาจจะมาแทน

สายสุขภาพจะได้รับผลกระทบอย่างไร

การรักษาในสายสุขภาพ การดูแลผู้ป่วย พวกพยาบาล หรือการดูแลผู้สูงอายุ ก็มีแนวโน้มว่าจะมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วย แต่สังคมก็อยากให้มีการพูดคุยดูแลมากกว่า แต่หากหุ่นยนต์ สามารพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์ได้เหมือนกับมนุษย์ ก็อาจจะเข้ามาแย่งงานได้  ขณะนี้ทักษะพวกนี้จึงสำคัญ การเข้าใจ ควรเน้นเรื่องของจิตใจ  คนควรอยู่ตรงกลางระหว่างเทคโนโลยี และก็สามารถทำงานที่มากกว่าเดิมได้ เพื่อให้ดูแลลูกค้าได้ดีขึ้น

ในอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีการสร้างบ้านพักผู้สูงอายุมากขึ้น เมื่อผู้สูงอายุอยู่รวมกันก็อาจจะต้องมีผู้ดูแลที่ใช้เทคโนโลยีในการช่วยได้ จากเดิมการดูแลผู้ป่วย 1 ต่อ 1 คน ก็เป็น 1 ต่อ 20 คน โดยมีคอมพิวเตอร์ช่วย ก็จะช่วยประหยัดตรงส่วนนี้ คนจะมาทำงานในแต่ละหน้าที่กันไปเช่น คนหนึ่งดูแลช่วงอาบน้ำ ให้ยา และผู้ดูแลโดยเน้นในเรื่องของจิตใจ หรือใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วย โดยทุกคนมีทักษะด้านพยาบาล แต่เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้มีความเป็นมนุษย์เข้ามาอยู่ในสังคม เพิ่มประ สิทธิภาพในการทำงาน ส่วนในโรงพยาบาล มีแนวโน้มจะใช้หุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดเพราะมีความแม่นยำ โดยแพทย์ก็ต้องมีทักษะในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เริ่มทำหุ่นยนต์ในการผ่าตัด ช่วงแรกจะเป็นเพียงเครื่องมือ ต่อไปจะอัตโนมัติมากขึ้น 

งานไหนอีกที่จะมีความเสี่ยง

ในสายศิลปะ ก็มีแนวโน้มที่จะนำ AI เข้ามาแทนเช่น วาดรูป แต่งเพลง แต่งหนังสือ นิทาน นิยาย มีความพยายามอยู่ที่จะนำมาแทนที่แต่ยังไม่ 100% แต่หากวันหนึ่งเมื่อมีความใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น ก็อาจจะตัดต่อเรื่องราวของนักเขียน เปลี่ยนชื่อ สร้างเนื้อเรื่องใหม่  เช่น การแต่งเพลง อาจแต่งเพลงฮิต โดยที่ไม่ต้องมีนักร้อง จากเดิมเราต้องใช้เสียงของนักร้องมารวมกันเพื่อให้เสียงสูง หรือเสียงต่ำ เพราะมนุษย์มีข้อจำกัดเช่นหลอดเสียง แต่เครื่องจักรนั้นไม่มี ก็อาจจะเป็นเพลงแนวใหม่

ทุกอาชีพต้องมีทักษะการใช้เทคโนโลยี

ทุกอาชีพต้องเรียนรู้แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ การนำเอาเทคโนโลยีที่มามารวมกันหรือ System Indication ซึ่งการออกแบบ และเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์รวมกันนั้น ยังถือว่ายาก เพราะในไทยอาจจะเก่งในเรื่องการทำแต่ละตัว แต่การทำรวมกันไทยยังไปไม่ถึงตรงนั้น  การจะทำระบบอัติโนมัติทั้งระบบจึงสำคัญเพราะเรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญได้นี้หรือที่เรียกว่า System Indicator ผู้ที่รู้จักเทคโนโลยี และนำมาผสมผสาน ซึ่งอาจเป็นกลุ่มแต่ต้องศึกษาวิทยาศาสตร์ด้านระบบ ของไทยยังไม่มี เช่นการออกแบบระบบ ตั้งแต่คอนเซปต์ ระดับบน ไปยังระดับล่าง กลุ่มคนพวกนี้จึงจำเป็น ส่วนใหญ่ในโครงการใหญ่ๆ เราพึ่งพาจากต่างประเทศ

สังคมไทยพร้อมที่จะรับมือหรือไม่  

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ การเรียนการสอน และการใช้เทคโนโลยีหรือเนื้อหาในการสอนต้องเปลี่ยนไปหรือไม่ ที่เห็นคือความพยายามทำคอร์สออนไลน์ขึ้นมาสอน ของสมาคมก็ทำคลิปสอนทางออนไลน์จริงๆ ไม่ต้องมาที่มหาวิทยาลัยก็ได้ สามารถเรียนที่บ้านได้ เรื่องความรู้สามารถหาได้ทั้งจากเสิร์ชเอนจิ้น กูเกิล แต่สำคัญคือประสบการณ์ ที่จะทำอย่างไรถึงจะสอนได้ เรื่องของความรู้และทักษะ เป็นสิ่งที่ต้องสอน ทักษะต้องทำต้องฝึกฝน ต้องทดลอง ซึ่งกลุ่มดิจิทัลพยายามทำระบบเรียนรู้เสมือนจริงเพียงใส่ VR หรืออาจจำลองการเรียนรู้เช่นวิชาเคมี ให้สามารถเดินไปในอะตอมเห็นลักษณะของอะตอม เช่นหนังสือที่เพียงสแกนก็จะพบภาพเคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้รูปแบบการเรียนรู้จะมากขึ้นจากเดิมที่เรียนรู้จากภาพนิ่ง จากนี้ไปจะไม่ใช่เพียงแค่การดู การฟังแต่ระบบการเรียนจะไปถึงการทำ

อาชีพที่จะเนื้อหอมนับจากนี้ในยุคของ AI

ที่สำคัญคือ การใช้ดิจิทัล ใช้ไอทีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะศาสตร์ จะต้องมีดิจิทัลเข้ามาช่วยเช่น เรียนหมอก็ต้องเรียนไอที เรียนบัญชี ก็ต้องเรียนไอที พวกที่เรียนไอที ต้องไปสายกับอาชีพอื่นๆ ถือว่าสำคัญ ต้องเสริมเข้าไป ต้องรู้วิธีใช้ดิจิทัลตรวจสอบได้ และต้องเป็นในแต่ละศาสตร์ หรือนำมาผสมผสานกันได้ ในต่างประเทศเรียกว่า Knowledge science หรือวิทยาการความรู้ เหมือนกับการอัพเดทความรู้ไม่ว่าจะเรียนด้านได้ก็มาอัพเกรดความรู้ด้านดิจิทัลเข้าไป แต่อาจต้องลงไปเพิ่มในระดับปริญญาตรี เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

ผู้ประกอบการไทยเริ่มที่จะปรับตัวเยอะหรือไม่

ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เพราะทราบดีว่าหากไม่ปรับตัวจะสูญเสียความเข้มแข็งในการแข่งขัน ขณะที่บริษัทเล็ก ที่ไม่ปรับตัวก็จะหายไปก่อน เพราะว่าจะบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทน ส่วนบริษัทใหญ่ ก็กลัวว่าหากไม่นำเทคโนโลยีเข้ามาไม่เอา AI เข้ามาสักวันหนึ่งก็จะถูกบริษัทอื่นเข้ามาแทนที่ได้ ซึ่งแต่ละคนเริ่มรู้ เช่นกูเกิล หากทำเพียงเสิร์ชเอนจิ้น อย่างเดียวก็จบ แต่เนื่องจากไม่จบก็ขายไปทางการเงิน การขายของจึงจะอยู่ได้

ในโลกธุรกิจ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่ได้ในยุคถัดไป ในยุคที่จะมาถึงในไม่ช้าเพาะคนจีนอาจมาแทนที่เรา คนเวียดนามอาจมาแทนที่เรา คนไทยต้องสู้โดยต้องเอาอะไรใหม่เข้ามา เราควรเป็นผู้นำตอนนี้เราเป็นที่ 3 อยู่ รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งที่คนไทยควรที่จะเป็นที่ 2 เพราะคนมาเลเซียมีประชากรเพียง 18 ล้านคน คนไทยเกือบ 70 ล้านคน หรือเป็นที่ 1 ชนะสิงคโปร์ยิ่งดี เชื่อว่าระบบการเรียนการสอน จะพัฒนาคนเก่งเพิ่มขึ้น และเราจะชนะแข่งขันกับประเทศอื่นได้

การเข้ามาของ AI เป็นโอกาสหรือ อุปสรรค

เป็นทั้ง 2 อย่างถ้าใครรู้จักการใช้ก็เป็นโอกาส ถ้าใครมองทางลบก็เป็นอุปสรรค ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อยากให้มองว่าเป็นโอกาสมากกว่า แล้วแต่มุมมอง ทุกคนมีมุมมองอยู่แต่ใครที่รู้จักการใช้โอกาส ถ้ารู้ว่า AI มาแล้วก็ศึกษา ใช้ดิจิทัลให้เป็น พอคุณเป็นก็สามารถหาเงินรูปแบบใหม่ได้ทำกิจการรูปแบบใหม่ได้ แต่ถ้าคิดว่าจะมาแต่ไม่ไปร่วมกับเขาก็จะกลายเป็นอุปสรรค เพราะสักวันหนึ่งคนที่ทำเป็นก็จะมาแทนที่คุณ ก็จะเป็นอุปสรรคไป จุดสำคัญคือต้องเริ่มปรับตัวและให้ใช้เทคโนโลยี AI เทคโนโลยีดิจิทัล คนแบบนี้จะเป็นคนที่มีความจำเป็นในอนาคต

ต้องมีอะไรมากระทบจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

ตอนนี้แต่ละคนเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลง และในยุค 4.0 แต่ละคนรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลง แต่เราอยากให้เปลี่ยนแปลงในพื้นฐานแนวคิดของแต่ละคน ตอนนี้อยากจะเปลี่ยนแปลงจากด้านบน แต่คนไทยจะเป็น 4.0 ได้ต้องเปลี่ยนทัศนคติ เราต้องพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุด ให้กับทุกคนสิ่งที่เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง...

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง