"ผูกพัน-ทรงจำ-รอยยิ้ม" วันสุดท้าย 50 ปี "โรงหนังลิโด"

ไลฟ์สไตล์
1 มิ.ย. 61
16:35
676
Logo Thai PBS
"ผูกพัน-ทรงจำ-รอยยิ้ม" วันสุดท้าย 50 ปี "โรงหนังลิโด"
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เก็บตกความประทับใจของผู้คนหลากหลายกลุ่ม บอกเล่าถึงความผูกพัน และความทรงจำ ในบรรยากาศวันสุดท้ายของโรงหนังลิโด ที่เสนอภาพยนตร์นอกกระแส ครองใจคอหนังทางเลือกมายาวนานถึง 50 ปี

วานนี้ (31 พ.ค.2561) เสียงไฟจากเครื่องฉายหนังเรื่อง เพลงแรก รักแรก จูบแรก จบลงเมื่อเวลา 22.45 น. ท่ามกลางพนักงานที่ยังคงทำหน้าที่จนถึงวันสุดท้าย ก่อนที่ "ลิโด" จะยุติบทบาทโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน แหล่งภาพยนตร์ทางเลือก-นอกกระแส ย่านสยามแสควร์ที่อยู่มายาวนานถึง 50 ปี


นายอุบล คล้ายทอง ผู้จัดการทั่วไป เล่าว่า ลิโดเปิดตัวตั้งแต่ พ.ศ.2511 ส่วนมากจะฉายภาพยนตร์จากทางยุโรป และเริ่มฉายภาพยนตร์ทางเลือกหรือภาพยนตร์หายาก นอกกระแส ในระยะหลัง โดยก่อนนี้ช่วงปี 2513-2515 มีผู้ชมจำนวนมาก ภาพยนตร์บางเรื่องต้องจองบัตรล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเรื่องที่ดีและฉายนานที่สุดในโรง คือ ขุนทองแม็กน่า ฉายนานถึง 9 เดือน


นายอุบล เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ลิโด ด้วยตำแหน่งคนเดินตั๋ว หรือ "บุรุษชุดเหลือง" ก่อนจะย้ายไปช่วยงานหลังจากสกาล่าเปิดตัว จากนั้นได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นคนฝึกพนักงาน คนรับโทรศัพท์ จนได้เป็นผู้จัดการทั่วไปในปัจจุบัน

ลิโดก็เหมือนเป็นบ้านของผม แล้วคนงาน พนักงานด้วยกัน หรือผู้บริหารระดับสูงก็เป็นเหมือนญาติกัน ทำงานแบบระบบครอบครัว คุยกันง่าย พอทราบข่าวว่าจะปิดตัวลงเมื่อ 3 เดือนก่อน ก็รู้สึกว่าเร็วจริง ๆ นับถอยหลังเป็นเดือน เป็นสัปดาห์ เป็นวัน นี่เป็นชั่วโมงแล้ว สุดท้ายก็จะไปแล้ว


หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับการปิดตัวลงเผยแพร่ออกมา ผู้ชมก็เริ่มหนาตาขึ้น โดยเฉพาะวานนี้เป็นวันพิเศษที่ตั๋วภาพยนตร์เต็มทุกรอบ ผู้ชมบางคนเข้ามาร้องไห้และบอกเล่าความรู้สึกเศร้าใจจนทำใจไม่ได้ให้แก่บุรุษชุดเหลืองได้รับฟังเป็นการส่งท้าย โดยหลังจากลิโดปิดม่านลง นายอุบล วัย 70 ปี ได้ตัดสินใจเกษียณตัวเอง เพื่อพักผ่อนอยู่บ้านและหาภาพยนตร์เรื่องโปรดมาชมเพื่อคลายเหงาในบางวัน


สำหรับ นายบุญส่ง หมื่นตุ วัย 45 ปี บุรุษชุดเหลือง หนึ่งในเอกลักษณ์ของโรงภาพยนตร์ลิโดได้  ได้บอกเล่าย้อนไปถึงการทำงานตลอด 22 ปี นับตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2538 ที่สมัครเข้าทำงาน ผ่านช่วงทำงานหนัก จากผู้ชมที่คึกครื้น จนก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจซบเซา ผู้คนเริ่มหายไปตามกาลเวลา โดยคอภาพยนตร์ของลิโดนั้นมาจากทุกประเทศ ส่วนมากจะเป็นลูกค้าประจำ บางคนชมภาพยนตร์ในโรงเดียวถึง 2 รอบ บางคนมาชมเฉพาะภาพยนตร์ใหม่ บางคน 1 เดือนมา 1 ครั้ง และบางครั้งก็มีคนมาเฉพาะช่วงเทศกาล บางคนหายไปนานก็กลับมา จนถึงวันที่ลิโดต้องอำลา

รู้สึกใจหาย อยู่ที่นี่เหมือนบ้านหลังที่สอง จะกลับบ้านเป็นส่วนน้อย อยู่ที่ทำงานเยอะกว่า 


ขณะที่คอภาพยนตร์ทางเลือกก็รู้สึกใจหายไม่แพ้กัน น.ส.จุฑามาศ เดชเกตุ เริ่มชมภาพยนตร์ที่ลิโด ตั้งแต่ พ.ศ.2516 ในช่วงมหาวิทยาลัย เนื่องจากเชื่อใจในการเลือกภาพยนตร์ของลิโด ที่จุฑามาศย้ำว่า "เป็นหนังสไตล์เรา" ก่อนจะตัดสินใจมาชมภาพยนตร์ที่ลิโดเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยวัย 60 ปี

รู้สึกขาดแหล่งที่เรามาแล้วมีความสุข รู้สึกว่าชีวิตมีอะไรขาดหายไป  เพราะว่ามันได้อารมณ์ และไม่เหมือนโรงหนังที่อยู่ตามห้าง แล้วก็จะได้เจอคอหนังที่มีสไตล์เดียวกัน  ถ้าสมมติไม่มีลิโด้แล้วอาจจะไม่มาแถวนี้เลยก็ได้

ส่วน น.ส.ปรารถนา เขื่อนสุวรรณ อายุ 35 ปี ที่ได้ชมภาพยนตร์ที่ลิโดมากว่า 6 ปี ชื่นชมตัวโรงภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนที่อื่น ด้วยบรรยากาศที่มีความเก่าแก่และคลาสสิก ตั๋วภาพยนตร์และคนเดินตั๋วที่เป็นเอกลักษณ์ โดย น.ส.ปรารถนา เล่าถึงความรู้สึกในวันสุดท้ายของลิโดว่า "เศร้ามากค่ะ รู้สึกเหมือนเพื่อนคนนึงของเรากำลังจะหายไป เพราะว่าที่นี่ยังไงก็ไม่มีที่ไหนเหมือน"


ด้านนายวิทยา ทองอยู่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ เล่าว่า มีโอกาสชมภาพยนตร์ที่ลิโดตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งลิโดที่เป็นมัลติเพล็กแล้ว มีภาพยนตร์หลายเรื่อง แม้แต่ละเรื่องอาจจะฉายน้อยรอบก็ตาม ทำให้คนชอบ "เก็บตกหนัง" ช่วงที่โรงภาพยนตร์อื่นเลิกฉายแล้ว นายวิทยาก็จะนั่งรถไฟฟ้ามาชมที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้

หนังที่ดูที่อื่นไม่ได้ ก็จะนึกถึงลิโด มันคงมาพร้อมกับหลาย ๆ เรื่อง พูดง่าย ๆ โมเม้นพิเศษในชีวิต ดูหนังที่ประทับใจ จับมือสาวแล้วหัวใจเต้นโครมคราม มันเกิดขึ้นที่ลิโด มันสะสมอยู่ภายใน เป็นความรู้สึกเป็นความทรงจำ 


ภาพบรรยากาศคึกคักของผู้คนมากมายที่มาเยือนโรงภาพยนตร์ลิโดนี้ ทำให้นายวิทยาสนใจเป็นพิเศษ เขาคิดว่า ครึ่งหนึ่งของคนที่มาในวันนี้คงพลาดโอกาสที่จะได้ชมภาพยนตร์เป็นครั้งสุดท้ายเพราะบัตรทุกรอบเต็มตั้งแต่เวลา 17.30 น. แต่การมาของทุกคนก็เหมือนได้กลับมายังโรงเรียน แล้วได้เดินดูห้องเรียนต่าง ๆ เดินถ่ายรูป เพื่อระลึกและอำลา

จริง ๆ มันก็ถึงเวลา ถ้ายังไม่ปิดอ่ะ มันคงจะไม่คึกคักแบบนี้ ก็เข้าใจได้ในเรื่องของผลประกอบการหรืออะไร เหมือนเรียนจบแล้วก็ต้องเข้าโรงเรียนใหม่ หรือว่าจบจากสถาบันนี้ก็ต้องก้าวเข้าสู่สถาบันต่อไป จริง ๆ ยุคปัจจุบันเราก็ไม่ได้ถึงขั้นหาหนังดูยากแล้ว หมายถึงเรื่องที่มันแบบอินดี้มาก ๆ ในแง่หนังนะ มันก็ไม่ได้แบบโรงนี้หายไปแล้วทำให้โอกาสในการดูหนังน้อยลง แต่ผมว่ามันเป็นความทรงจำมากกว่า


ไม่ต่างจากนายสุปรีชา จรูญศักดิ์ วัย 69 ปี ที่ได้จูงมือภรรยาเดินทางจากบ้านในเขตบางกะปิ เพื่อมาดูภาพยนตร์ที่ลิโดเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยใช้ช่วงเวลาที่มีความสุขร่วมกันในสถานที่แห่งนี้ นายปรีชา กล่าวทิ้งท้ายกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "ทุกอย่างมันเป็นไปตามกาลเวลา ทุกคนคงรู้สึกว่าความสุขในวันวานกำลังจะหายไป"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง