8 ปีที่รอคอย “อานนท์ สนิทวงศ์ ” ผู้รับบริจาคกระจกตา

สังคม
8 มิ.ย. 61
16:43
1,635
Logo Thai PBS
8 ปีที่รอคอย “อานนท์ สนิทวงศ์ ” ผู้รับบริจาคกระจกตา
เปิดใจ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง หนึ่งในผู้ที่ได้รับบริจาคดวงตาที่ช่วยให้พ้นจากอาการของโรคกระจกตาโป่งพอง ที่อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ หลังต้องรอคอยถึง 8 ปี

ไทยพีบีเอสออนไลน์ มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า หนึ่งในผู้ที่ได้รับบริจาคดวงตา ที่ช่วยให้พ้นจากอาการของโรคกระจกตาโป่งพอง ที่อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

ดร.อานนท์ เล่าว่า เมื่อช่วงปี 2530 ขณะที่ยังศึกษายังต่างประเทศเทศ เริ่มมีอาการป่วยทางสายตาโดยเป็นโรคกระจกตาโป่งพอง (Keratoconus) ซึ่งเป็นอาการที่กระจกตาจะโป่งนูนออกมาในจุดเดียว โดยขณะนั้นเป็นทั้ง 2 ข้าง แต่ดวงตาข้างซ้าย จะมีอาการหนักกว่า จนเริ่มจะส่งผลให้ความชัดเจนในการมองเห็นแย่ลงเรื่อยๆ และกระจกตาจะค่อยๆบางลง ซึ่งอาการของโรคตาชนิดนี้ ยังถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยในขณะนั้น

การแก้ปัญหาคือการใช้คนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่จะช่วยกดให้กระจกตาที่โป่งนูนให้เรียบ โดยใช้วิธีการนี้มานานกว่า 10 ปี

จนกระทั่งกลับมายังประเทศไทย ในปี 2540 ก็ยังคงใช้วิธีการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ แต่ในช่วงปีดังกล่าว ดวงตาข้างซ้ายเริ่มมีปัญหากระจกตานูนมากขึ้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนกระจกตา ซึ่งได้ลงทะเบียนแจ้งความจำนงขอรับบริจาคดวงตา ซึ่งมีผู้ขอรับการบริจาคจำนวนมาก และใช้เวลารอนาน 7-8 ปี จึงได้รับการติดต่อว่าสามารถผ่าตัดได้ แต่ในครั้งแรกเนื้อเยื่อเข้ากันไม่ได้ จึงยังไม่ได้ผ่าตัด แต่อีกประมาณ 2-3 เดือนต่อมาก็ได้รับแจ้งจากศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยว่า สามารถผ่าตัดดวงตาได้จึงได้ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

ผมได้รับโทรศัพท์ว่ามีผู้บริจาคดวงตา และจะต้องผ่าตัดด่วนภายใน 24 ชม. ตอนนั้นอยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน จึงต้องบินกลับด่วนมาที่ รพ.จุฬาฯ และผ่าตัดดวงตาข้างซ้าย เนื่องจากมีอาการกระจกตาโป่งที่รุนแรง ขณะที่ดวงตาอีกข้างของผู้บริจาคก็นำไปให้ผู้รับบริจาคอีกคนหนึ่ง

หลังการผ่าตัด ดร.อานนท์ เล่าว่า ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปีจึงจะเข้าที่ และเริ่มดีขึ้น และยังคงใช้ได้ดีมาถึงปัจจุบัน ซึ่การรับบริจาคก็ต้องติดตาม และดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะร่างกายมีการต่อต้าน จึงต้องใช้เซรุ่มที่ปั่นมาจากเลือดของตัวเองมาหยอดตา เพื่อหลอกว่าเป็นร่างกายเดียวกันเพื่อลดการต่อต้านกระจกตาที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนมา และต้องเพิ่มการดูแลเช่นห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด

ขณะที่ตาด้านขวา ที่มีอาการกระจกตาโป่งเช่นเดียวกัน แต่เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น จึงสามารถผ่าตัดโดยใส่วงแหวน เพื่อดึงให้กระจกตาที่โป่งนั้นเรียบ  ขณะนี้ใช้วงแหวน 2 ชั้นในการดึงกระจกตาและสวมแว่นตาเพื่อลดอาการสายตาเอียง ซึ่งผ่าตัดโดยใช้วิธีการนี้ตั้งแต่ปี 2550 และยังคงใช้ได้ถึงปัจจุบัน

ดวงตาข้างขวาก็มีอาการเหมือนกับข้างซ้าย แต่ก็ต้องให้สิทธิในการรับบริจาคดวงตาแก่ผู้อื่นด้วย และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนา จึงใช้วิธีการใส่วงแหวนเพื่อดึงกระจกตาบรรเทาอาการกระจกตาโป่ง และผมก็เป็นคนแรกๆที่ใช้วิธีการนี้ในไทย ซึ่งดำเนินการโดยอาจารย์แพทย์จุฬา

ดร.อานนท์ กล่าวว่า การที่มีผู้บริจาคดวงตา ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก เฉพาะกรณีของตนเองหากไม่มีผู้บริจาค ก็อาจจะถึงขั้นตาบอด ซึ่งการบริจาคดวงตา ถือว่าเป็นประโยชน์โดยเฉพาะในกรณีของผู้บริจาคที่เสียชีวิตจะได้ประโยชน์ 100 % ขณะที่กรณีของผู้ที่ยังไม่เสียชีวิตก็อาจจะต้องพิจารณาให้ดี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม้ว่าจะมียอดของผู้รับบริจาคดวงตาจำนวนมาก แต่การเชื่อมโยงข้อมูลในการบริจาคค่อนข้างน้อย เพราะหากมีผู้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ดี และมีประสิทธิภาพพอก็จะนำไปสู่การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนดวงตาได้ยากขึ้น ดังนั้นหากมีการเชื่อมโยงข้อมูลหรือ Bigdata เข้ากับเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อส่งต่อจากผู้ให้ไปยังผู้รับเพื่อที่จะผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาโดยเร็วที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง