ขอ "วาฬนำร่องครีบสั้น" สัตว์ตัวสุดท้ายสังเวยชีวิต “เหยื่อขยะ”

สิ่งแวดล้อม
8 มิ.ย. 61
17:33
2,584
Logo Thai PBS
ขอ "วาฬนำร่องครีบสั้น" สัตว์ตัวสุดท้ายสังเวยชีวิต “เหยื่อขยะ”
เปิดใจทีมสัตวแพทย์ ช่วยชีวิต วาฬนำร่องครีบสั้น เหยื่อถุงพลาสติกในทะเลตัวล่าสุด สร้างกระแสให้คนเห็นความสำคัญของปัญหาขยะทะเลที่คร่าชีวิตสัตว์ทะเลหายากทั้งวาฬ โลมา เต่าทะเลมากกว่า 300 ตัวต่อปี

วันนี้ (8 มิ.ย.2561) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ สัตวแพทย์หญิงวัชรา ศากรวิมล นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร หนึ่งในทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลวาฬนำร่องครีบสั้น ที่ตายเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากการกินขยะพลาสติกถึง 8 กิโลกรัม

เธอ เล่าว่า ครั้งแรกที่ไปรับตัววาฬนำร่องครีบสั้น เมื่อ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา สภาพที่เห็นสันนิษฐานเบื้องต้นว่าจะมีอาการป่วยเรื้อรัง เพราะ เห็นว่าตัวเขาผอมมาก สังเกตการว่ายน้ำจะเอียงไปทางด้านขวา พยุงตัวไม่ได้ ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะกินขยะเข้าไป

วาฬมีอาการซึม ไม่ตอบสนอง ไม่กินอาหาร มีความเครียด หายใจลำบาก พยายามผงกหัวหายใจ ตีหางเป็นบางครั้ง ทีมสัตวแพทย์ประเมินว่าต้องย้ายจากคลองนาทับ  อ.จะนะ จ.สงขลาที่น้ำขุ่นไปไปที่ปากอ่าวที่น้ำจะไหลเชี่ยวกว่า

 

และเมื่อเก็บเลือดมาตรวจพบว่าวาฬติดเชื้อ และมีเม็ดเลือดขาวสูงมาก รวมถึงเมื่อเก็บลมหายใจวาฬ พบว่ามีกลิ่นแสดงว่าติดเชื้อแบคทีเรีย ไตอาจจะทำงานหนัก มีอาการขาดน้ำ ถือว่ามีอาการป่วยรุนแรง โดยการดูแลวาฬตัวนี้มีสัตวแพทย์ 3 คน และทีมงานรวมทั้งหมดประมาณ 20 คนคอยสลับผลัดเวร 3 คนๆละ 2 ชัวโมงตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคอยดูแลวาฬตัวนี้ให้ดีที่สุด

กระทั่งวันที่ 1 มิ.ย. วาฬนำร่องครีบสั้น เริ่มมีอาการเกร็ง ตีหาง และเจอว่ามีพลาสติกแผ่นแรกหลุดออกมา สันนิษฐานว่าวาฬจะขย้อนพลาสติกออกมา และเริ่มดิ้นแรงขึ้น จากนั้นเริ่มคายขยะออกมาอีก 4 ชิ้น และเริ่มชักเกร็งมากขึ้น หมอให้ยากระตุ้น ให้ออกซิเจน และเริ่มรู้ว่าเขาไม่ไหวแล้ว

ตอนที่ล้วงเข้าไปเริ่มรู้แล้วว่าหลอดอาหารของเขามีขยะพลาสติก และเราพยายามช่วยอย่างถึงที่สุด ยอมรับว่าตั้งแต่เป็นหมอมาไม่เคยรู้สึกเศร้า และรู้สึกแย่เท่าเคสนี้

ก่อนตายวาฬขย้อนเอาถุงพลาสติกออกมา 5 ชิ้น แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคือการเจอขยะในกระเพาะอาหาร 8 กิโลกรัม มีถุงพลาสติก 85 ชิ้น ทำให้รู้สึกปวดใจมาก เพราะทุกครั้งที่มีโลมา หรือวาฬเกยตื้น เราจะทำใจแล้วว่าอาการเหล่านี้คือวิกฤต โอกาสรอดน้อย ทุกครั้งมันคือความท้าทายที่จะช่วยมันให้รอดแม้ว่าบางครั้งจะจบด้วยการชันสูตรก็ตาม

 


การตายของวาฬตัวนี้ บ่งชี้ถึงสภาพของทะเลที่กำลังวิกฤตหรือไม่ สัตวแพทย์หญิงวัชรา ยอมรับว่า ปัญหาสัตว์ทะเลจากขยะทะเลมีมากขึ้น บ่งชี้ว่าทะเล มีปัญหาขยะพลาสติกมาก และเคสนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด และเราไม่อยากให้เกิดแบบนี้อีก ซึ่งไม่รู้ว่าจะขอมากไปหรือเปล่า

เราไม่อยากบอกว่าต้นทางขยะมาจากประเทศไหน แต่ทุกอย่างคือความรับผิดชอบร่วมกันของทุกประเทศ อยากขอความร่วมมือทุกคน เพราะถึงจะมีนโยบายดีแค่แค่ไหน ถ้าไม่เริ่มจากตัวคนก็ไม่มีประโยชน์ แต่หากทุกคนคิดว่าถ้าเราสร้างขยะ 1 ชิ้นอาจจะทำให้สัตว์ทะเล ตายได้ก็อาจจะช่วยลดขยะลง

สัตวแพทย์ประจำกรม ทช. บอกว่า การเอาขยะออกจากทะเลออกทั้งหมด เป็นไปได้ยาก แต่วิธีที่ง่ายกว่าการกำจัด คือป้องกัน ลดการใช้ และหาส่ิงอื่นทดแทนถุงพลาสติก เช่น ใช้ถุงผ้า แทนที่จะใช้ขวดน้ำพลาสติก ก็มาใช้แก้วแทน เรื่องขยะทะเลถือเป็นปัญหาวิกฤต กระแสนานาชาติ เริ่มรณรงค์มาก 


ด้านสัตวแพทย์หญิงพัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ภารกิจของทช.คือการดูแลทรัพยากรทางทะเล และดูแลกลุ่มสัตว์ทะเลหากยาก โลมา เต่า พะยูน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีการเก็บสถิติสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตายมาตลอด

พบว่ามีปัญหาจากการกินขยะตายบ่อยขึ้น จากที่เก็บข้อมูลและมีรายงานมาเรื่อยๆ มากสุดคือวาฬนำร่องครีบสั้นที่ตายลงเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นสัตว์ทะเลหายากตัวแรกที่กินขยะเยอะที่สุดในไทย มากถึง 8 กิโลกรัม นับถุงขยะได้ 85 ชิ้น จากเดิมที่เคยเจอวาฬขนาดเล็กไม่เกิน 1 เมตรมีขยะในท้องประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งก็มากแล้ว

สัตว์ทะเลหายากกลุ่มวาฬ และโลมาที่ตายจากการกินขยะ เพราะขยะจะเข้าไปอุดตันในระบบทางเดินอาหาร ทำให้สัตว์จะเจ็บปวด ทรมานและตาย ซึ่งกรณีของวาฬนำร่องครีบสั้นตัวนี้ ถึงแม้เราจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าใช้ระยะเวลาในการกิน และสะสมขยะนานกี่ปี จนมีปริมาณมากขนาดนี้ได้ อาจต้องหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา

นอกจากนี้ สำหรับขยะอยู่ในท้องวาฬ ถึงจะเห็นว่าเป็นยี่ห้อผลิตภัณฑ์ขนมจากประเทศไหน มาจากหลายประเทศ แต่มันอาจไม่ได้หมายความวาฬตัวนี้จะต้องกินขยะจากประเทศนั้นๆเพราะขยะอาจถูกทิ้งมา ถูกทะเลพัดลงมา หรือมากับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาก็ได้

 

 

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า ในวันมหาสมุทรโลกปีนี้ ประเทศไทยนำกรณีวาฬนำร่องครีบสั้น กินพลาสติกน้ำหนัก 8 กิโลกรัม เกยตื้นตาย เป็นบทเรียนราคาแพงที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล เพราะขยะพลาสติกในทะเลมีการสะสมและแพร่กระจายอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะที่ลอยอยู่บนชั้นผิวน้ำ เช่น แผ่นพลาสติก ถุงพลาสติก ห่อขนม เมื่อวาฬป่วยเห็นเข้าจึงกินพลาสติกเข้าไปเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร ทำให้เกิดการอุดตันสาเหตุของการป่วยและตาย รวมถึงสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดที่กลืนกินขยะทะเล ทั้งโลมา และเต่าทะเล

วาฬตัวนี้จะไม่ตายฟรี คงจะเป็นอุทาหรณ์ ให้พวกเราเห็นว่าขยะที่อยู่ในท้องของวาฬ อาจจะมาจากการผลิตของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะนึกไม่ถึงไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ ขยะเหล่านี้ทุกส่วนไหลลงทะเลได้ ทะเลคือบ่อขยะที่ใหญ่ที่สุดจนอาจจะตรงกับคำที่ว่าอนาคตขยะจะมากกว่าปลาในทะเล

ปัญหาขยะเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาคแก้ปัญหาขยะทะเล จากสถิติสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเลในรอบ 3 ปี (ระหว่างปี 2558-2560) มีเต่าทะเลเกยตื้น 109 ตัว โลมาและวาฬเกยตื้น 9 ตัว และพะยูนเกยตื้น 4 ตัว โดยในปี 2560 มีจำนวนสัตว์ทะเลเกยตื้น 413 ตัวหรือร้อยละ 16 เพิ่มขึ้นจากที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว โดยกินขยะพลาสติกตายร้อยละ 51 และถูกพันยึดภายนอกร่างกายจากขยะพลาสติกและเศษอวน

จันทร์จิรา พงษ์ราย ไทยพีบีเอสออนไลน์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง