นักพนันหน้าใหม่พุ่ง 1.1 แสนคน ห่วงเยาวชน 6 แสนคนตกเป็นเหยื่อ

สังคม
11 มิ.ย. 61
11:36
864
Logo Thai PBS
นักพนันหน้าใหม่พุ่ง 1.1 แสนคน ห่วงเยาวชน 6 แสนคนตกเป็นเหยื่อ
น่าห่วง เว็บพนันออนไลน์ผุดกว่า 230,000 เว็บ ขณะที่ผลสำรวจเผยสถานการณ์เล่นพนันบอลในไทยปี 60 มีมากถึง 2.5 ล้านคน เป็นเยาวชนอายุ 15-25 ปี กว่า 600,000 คน ทำเงินสะพัด 1.4 แสนล้านบาท เร่งรณรงค์สกัดเด็กและเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

เหลืออีกเพียงแค่ 3 วัน มหกรรมกีฬาที่คนทั้งโลกรอคอย "ฟุตบอลโลก 2018" กำลังจะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 14 มิ.ย.-15 ก.ค. โดยปีนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างจับตาและเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพราะความแพร่หลายของการพนันบอลออนไลน์ ที่ทำให้คนเล่นพนันได้ง่ายขึ้น พบข้อมูลที่น่าวิตกว่าเด็กและเยาวชนเล่นพนันบอลสูงถึง 600,000 คน จากจำนวนคนเล่นพนันบอลประมาณ 2,500,000 คน

นักพนันหน้าใหม่พุ่ง 1.1 แสนคน เป็นเยาวชนกว่า 6 แสน

นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปี 2560 โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ พบว่า คนไทยร้อยละ 75.2 หรือเกือบ 40 ล้านคน เคยเล่นพนัน

มีจำนวนผู้เล่นพนันฟุตบอลในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 2,500,000 คน ในจำนวนนี้ มีเยาวชนอายุ 15-25 ปี กว่า 600,000 คน โดยมีนักพนันหน้าใหม่ ที่เริ่มเล่นพนันครั้งแรกกว่า 110,000 คน มีวงเงินหมุนเวียนในตลาดการพนันประเภทนี้สูงถึง 140,016 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผลการสำรวจนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 ถึง ม.3 ปี 2561 ยังพบว่า เด็กร้อยละ 91.8 รู้จักเล่นพนันจากคนในครอบครัว คนในชุมชน และญาติ ในจำนวนนี้มากกว่า 1 ใน 4 บอกว่ารู้สึกอยากเล่นพนันเมื่อเห็นผู้ใหญ่เล่น

ขณะที่ในโลกโซเชียล เด็กร้อยละ 72.1 เคยพบเห็นโฆษณาเชิญชวนให้เล่นพนัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 14.6 ตามไปเล่นพนันตามช่องทางที่เชิญชวน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เด็กมากถึงร้อยละ 51.8 เคยเล่นการพนันโดยใช้เงินเดิมพัน โดยการพนันที่ใช้เงินเดิมพันมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ พนันออนไลน์ พนันบอลกินเงิน และพนันกีฬา อื่นๆ

วุฒิภาวะของเด็กยังถือว่าน้อยกว่าผู้ใหญ่เมื่อถูกชักจูงหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมของการเล่นพนัน จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรพนันได้ง่ายกว่า ส่วนใหญ่เริ่มจากการชอบกีฬา และผลันไปสู่การเล่นพนันจนเกิดปัญหา ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามควบคุมและปราบปราม แต่ก็ทำได้ยาก ดังนั้นจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย ควบคู่กับมาตรการทางสังคมด้วย

เยาวชน ผู้สูงอายุเล่นการพนันเพิ่ม ร้อยละ 20 

รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาพรวม ปี 2560 คนไทยเล่นพนันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 54.6 หรือเกือบ 29 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่น่ากังวลใจ พบว่ากลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุมีการเล่นพนันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับผลสำรวจปี 2558 พบ 5 อันดับการพนันยอดนิยม ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน ไพ่ พนันทายผลฟุตบอล และพนันพื้นบ้าน

 

ภาพประกอบ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ภาพประกอบ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ภาพประกอบ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

ที่น่าสังเกตคือ การเพิ่มปริมาณสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบก้าวกระโดดทำให้วงเงินพนันสลากฯเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากกว่า 70,000 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 แสนล้านบาทในปี 2560 และมีผู้เล่นพนันสลากฯเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.2 คือจาก 19 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 21.4 ล้านคนในปี 2560

ขณะที่หวยใต้ดินวงเงินพนันโตขึ้นร้อยละ 3.2 อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท จำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 มาอยู่ที่ 17.3 ล้านคน คือทั้งสลากฯ ทั้งหวยใต้ดิน มีคนเล่นเพิ่ม มีวงเงินพนันเพิ่ม และผู้ที่เล่นพนันทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินมีมากถึง 12.6 ล้านคน

ผู้เล่นพนันได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ร้อยละ 20.4 หรือ 5.9 ล้านคน เช่น รู้สึกเครียด ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว เสียเวลาทำงานหรือการเรียน เป็นหนี้ สุขภาพเสื่อมโทรม ฯลฯ และประมาณ 900,000 คน มีหนี้สินที่เกิดจากการพนันรวมกันประมาณ 12,258 ล้านบาทหรือเฉลี่ยที่คนละ 13,188 บาท

เมื่อให้ผู้เล่นพนันประเมินว่าตนเองติดพนันหรือไม่ พบว่าร้อยละ 16.1 หรือประมาณ 4.66 ล้านคน ประเมินว่าตนเองติดการพนัน เพศชายมีสัดส่วนคนติดพนันมากกว่าเพศหญิง แม้คนติดพนันส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30-49 ปี แต่น่ากังวลที่มีเยาวชนอายุ 15-25 ปี ประมาณกว่า 400,000 คน และผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปอีกเกือบ 700,000 คน มองว่าตนเองติดพนัน

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการพนันเป็นปัญหา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม จำเป็นต้องเร่งแก้ไขและหามาตรการป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ ไม่ให้เข้าสู่วงจรนักพนัน รวมถึงหามาตรการช่วยเหลือผู้ติดพนันในกลุ่มวัยต่างๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย มาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการพนันต่อไป

สร้างสื่อรณรงค์ สกัดเด็ก-เยาวชน ตกเป็นเหยื่อ

 

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การแข่ง ขันฟุตบอลโลกที่กำลังจะมีขึ้น คาดจะเป็นช่วงเวลาที่การพนันฟุตบอลออนไลน์จะเข้ามามีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากเข้าถึงสื่อโซเซียลมีเดียได้ตลอดเวลาผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

จากการสำรวจของ สสส. การพนันออนไลน์ที่เด็กและวัยรุ่นนิยมสูงที่สุดคือ การทายผลฟุตบอลออนไลน์ ในรอบ 1 ปี ระหว่าง พ.ศ.2558-2559 มีเว็บไซต์เล่นพนันออนไลน์มากถึง 213,000 เว็บไซต์ ทำให้เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดพนัน พม.เล็งเห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาที่มีผลต่ออนาคตของชาติ จึงร่วมมือกับ สสส. จัดทำโครงการผลิตสื่อรณรงค์ประเด็นการพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนัก รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก และยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการป้องกันปัญหาดังกล่าว

สำหรับภาพยนตร์สั้น 5 เรื่องที่ได้รับรางวัลในโครงการ สื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ประกอบไปด้วยผลงานเรื่อง “เสี่ยง” จากทีม Nitedkaset film สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ผลงานเรื่อง “จุดจบเดียวกัน In The End” จากทีม ฤดูสน โรงเรียนขุมยวมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน ผลงานเรื่อง “คู่ตรงข้าม จากทีม BUCA คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ผลงานเรื่อง “SBALL BET” จากทีม สมาพันธ์เด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ และ ผลงานเรื่อง “Cycphuket” จากทีม สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้ ผลงานในโครงการผลิตสื่อรณรงค์ครั้งนี้จะถูกนำไปเผยแพร่ต่อผ่านสื่อของเครือข่ายต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บช.น.ตั้งวอร์รูมปราบพนันออนไลน์-จับอายัดบัญชีภายใน 5 นาที

"อัยการ" แนะรัฐบาลใช้ ม.44 เพิ่มโทษพนันบอล 

"สุรศักดิ์มนตรี" คิกออฟ "เชียร์บอล ไม่พนัน ก็มันได้"

จิตแพทย์ ชี้ติดการพนันรักษายาก - ไม่คิดว่าป่วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง