2 ทนายเห็นแย้ง ควรใช้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิต

อาชญากรรม
19 มิ.ย. 61
15:51
6,902
Logo Thai PBS
2 ทนายเห็นแย้ง ควรใช้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิต
ทนายความอิสระเห็นด้วยกลับมาใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้งในรอบ 8-9 ปี และควรสงวนโทษนี้ไว้ดีกว่าไปยกเลิก โดยเชื่อหากใช้อย่างจริงจัง อาจส่งผลให้อาชญากรรมลดลงได้ ขณะที่ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นแย้งไม่มีผลวิจัยรองรับว่าโทษประหารชีวิต จะทำให้ผู้กระทำผิดลดลง

วันนี้ (19 มิ.ย.2561) นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระ เปิดเผยถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์กลับมาใช้โทษประหารชีวิตว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นชอบด้วยเสมอมา เพราะว่าสภาพการบังคับในกฎหมายไทยไม่ได้ถูกยกเลิก โทษประหารชีวิตยังคงมีอยู่ในมาตรา 18 ของประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่เคยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ส่วนกรณีที่นักสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานอื่นที่มองว่าโทษประหารชีวิตควรจะยกเลิกไปแล้ว มองว่าไม่เห็นด้วย เพราะว่าโทษประหารชีวิตควรสงวนไว้ดีกว่าที่จะยกเลิก หากยกเลิกไปแล้ว เราจะนำโทษประหารชีวิตกลับมาเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าคงไว้ แต่ไม่ได้ใช้ยังดีกว่าไม่มีเลย

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าผู้กระทำความผิดหลายคนหลายประเทศหลายเชื้อชาติไม่ได้มีเจตนาที่จะทำผิดแล้วเจตนาจะกลับตัวเป็นพลเมืองดี ถึงแม้ได้รับโอกาส เพราะว่าในปัจจุบัน อาชญากรรมระหว่างประเทศใกล้ตัวเรามากขึ้น เช่น ระเบิดแยกราชประสงค์ หรือแม้แต่การก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เขาพร้อมจะฆ่าคนได้ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ รวมถึงลูกเด็กเล็กแดง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่คิดจะกลับตัวกลับใจอยู่แล้ว เช่น สมมติว่ากลุ่มก่อการร้ายต่างประเทศจะเข้ามาวางแผนก่อการร้ายในประเทศไทย เขาไม่คิดกลับตัวอยู่แล้ว แม้ว่าจะได้รับการเว้นโทษประหารชีวิต และพร้อมจะพลีชีพอยู่แล้ว

ส่วนกรณีมีความเห็นแย้งว่าถึงจะมีโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้ทำสถิติอาชญากรรมลดลง ซึ่งมองว่าส่วนหนึ่งอาจจะมาจากมีโทษประหารชีวิต แต่ไม่ยอมใช้ จำนวนอาชญากรรมเลยไม่ลดลง ถ้าใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้อาชญากรรมลดลงได้เหมือนกัน

นายเกิดผล กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตว่าการใช้โทษประหารชีวิตแล้วจะทำให้ผู้กระทำผิดมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงว่า ไม่แน่เสมอไป ก็อาจจะมีส่วนสำหรับผู้กระทำความผิดจิตวิตถาร หรือวิปริตวิปลาส แต่ถ้าคนกระทำความผิดโดยปกติจะมีโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว เช่น ฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือแม้กระทั่งความผิดครั้งเดียว เขาก็ไม่เจตนาจะฆ่าคน ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ชัดเจนว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการกระทำรุนแรงอย่างการฆ่าพ่อแม่ ฆ่าบุพการี เขาไม่มีแนวโน้มจะไปฆ่าคนอื่นอยู่แล้ว เพราะว่าความผิดนี้เกิดขึ้นเฉพาะตัวบุคคล ยกเว้นความผิดบางประเภทเท่านั้นที่มีพฤติการณ์ที่ว่าถ้ามีโทษประหารชีวิต เขาอาจจะเพิ่มความรุนแรง หรือทำในสิ่งที่อาจหาญท้าทาย เช่น การจำหน่ายยาเสพติด ซึ่งถ้าได้รับโทษประหารชีวิตจริง บางคนยอมเสี่ยง เพื่อที่จะรวยครั้งเดียว ถ้ารอดก็รอด ไม่รอดก็ตายแค่นั้นเอง ดีกว่ามานั่งติดคุกนานๆ

หรือกระทั่งบางคนมองว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราควรประหารชีวิต ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ มีโทษตั้งแต่จำคุกไปถึงประหารชีวิต แต่ไม่ได้ให้ประหารชีวิตเสมอไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกระทำความผิด ถ้าคนร้ายมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และประหารชีวิต แล้วแต่พฤติการณ์ เราเอาไปรวมกันหมดว่าข่มขืนแล้วไม่ได้ซ้ำเติมเหยื่อกลับจะเอาเขาไปประหารชีวิตก็ไม่ใช่ ก็ต้องเป็นไปตามความรุนแรงของเขาที่กระทำ แต่ถ้าบอกว่าข่มขืนประหารสถานเดียวไม่ใช่ อยู่ที่พฤติการณ์และการกระทำความมรุนแรงเท่านั้น

ทั้งนี้ อัตราโทษที่ศาลกำหนดจำคุกหรือประหารชีวิต หรืออะไรก็แล้วแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดที่รุนแรงอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าผิดเท่านี้จะเอาเขาประหารเท่ากับเท่านี้ ไม่ได้สนับสนุนอย่างนั้น ไม่ต้องประหารทุกอย่าง แต่ถ้าถึงขนาดเป็นอาชญากรรมก่อกรรมอย่างร้ายแรงและเป็นภัยต่อสังคมอย่างมาก ทำผิดซ้ำซาก ควรจะประหารชีวิต แต่ไม่ใช่ผิดครั้งแรกแล้วต้องประหารชีวิตเสมอไป ต้องพิจารณาว่ามีโอกาสกลับตัวกลับใจแค่ไหน แต่บางคนทำผิดโดยสันดานซ้ำซาก หรือวางแผนเป็นฆาตกรอย่างต่อเนื่อง หรือพ้นโทษออกมาไม่เข็ดหลาบ หรือการกระทำนั้นรุนแรงมาก เช่น วางระเบิดหวังฆ่าคนทั้งตำบล โดยไม่แยแสว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดง พฤติกรรมอย่างนี้ไม่ควรจะเอาไว้

นายเกิดผล กล่าวว่า การกลับมาใช้โทษประหารชีวิตไม่ส่งผลกระทบต่อการที่ประเทศไทยไปลงนามภาคีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยนชน ซึ่งจะมีข้อตกลงแค่ว่าในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไปลงนามไว้ ในกรณีที่ไม่มีโทษประหารชีวิต 10 ปี นับตั้งแต่ประหารชีวิตครั้งสุดท้ายให้ถือว่ายกเลิกโทษประหารชีวิตไปโดยปริยาย ซึ่งประเทศไทยเคยประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 แต่ในปี 2561 มาประหารชีวิตอีกครั้ง จึงเป็นเหตุแค่ว่าโทษประหารชีวิตนั้นไม่ได้ถูกยกเลิก ก็เริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งถ้าอีก 10 ปีข้างหน้าไม่มีการประหารชีวิตก็ยกเลิกไปเหมือนกัน

"ไม่มีสิทธิพรากชีวิตผู้อื่น"
ด้านนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กรณีการตัดสินโทษประหารชีวิต หากมองในบริบทนักสิทธิมนุษยชนก็มองว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิ แต่ในสังคมบางส่วนก็ยังต้องการให้มีเพราะต้องการให้ลงโทษเด็ดขาดในคดีอุกฉกรรจ์ ทั้งนี้ ต้องถามว่าการที่จะยืนยันโทษประหารชีวิต ต้องไปพิจารณาว่าการใช้แนวทางนี้มีผลวิจัย หรือข้อมูลรองรับหรือตัวเลขของผู้กระทำผิดลดลงหรือไม่ เพราะที่เห็นได้ชัดคือคดียาเสพติดที่มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ยังพบว่ายังมีตัวเลขผู้กระทำผิดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คดีอาญาก็จะมีรายละเอียดของคดีที่แตกต่างกัน เพราะจุดสำคัญส่วนหนึ่ง คือกรณีการจับผิดตัว หรือ "จับแพะ" ก็จะถือว่าเป็นการนำไปสู่การลงโทษผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่มีบุคคลใดที่จะมีสิทธิในการพรากชีวิตผู้อื่น ซึ่งกรณีของการตัดสินโทษประหารยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบทั้งเรื่องของ ข้อมูล ที่ส่งผลถึงการก่ออาชญากรรม

"โทษคดียาเสพติด พบว่าแม้มีโทษแรงถึงขั้นประหารชีวิต ก็ยังมีผู้ที่กระทำผิดเพราะเห็นว่าคุ้มค่าที่จะทำ และผู้ต้องหาบางคนเลือกที่จะถูกประหารชีวิตมากกว่าที่จะถูกจำคุก ซึ่งเป็นคำถามของการมีโทษประหารชีวิตว่าลดปัญหาอาชญากรรมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีกรณีของการจับผู้ต้องหาผิดตัวหรือแพะ ซึ่งหากมีโทษถึงขั้นประหารชีวิตก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น"

ทั้งนี้ แนวทางส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่บำบัด เยียวยาผู้ต้องขังให้สามารถกลับตัวกลับใจและคืนคนดีสู่สังคม แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะยังคงมีคนประเภทที่กลับตัวกลับใจได้และบุคคลที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักสิทธิมนุษยชนไม่มีบุคคลใดที่จะมีสิทธิในการพรากชีวิตผู้อื่น

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ทำผิดคดีไหน? อาจถึงโทษประหารชีวิต 


7 พฤติกรรม "ฆ่า" แบบไหนที่ต้องรับโทษประหาร 


แอมเนสตี้ ชี้ "ประหารชีวิต" ละเมิดสิทธิ-ไม่ลดอาชญากรรม 


แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ หลังไทยประหารชีวิตครั้งแรกรอบ 9 ปี


สถานการณ์ลงโทษ "ประหารชีวิต" ปี 60 จีนมากที่สุด 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง