รู้จัก 14 สายพันธุ์สับปะรดปลูกในไทย

สิ่งแวดล้อม
20 มิ.ย. 61
16:17
143,327
Logo Thai PBS
รู้จัก 14 สายพันธุ์สับปะรดปลูกในไทย
ไทยพีบีเอสออนไลน์พามารู้จักสับปะรด 14 สายพันธุ์ ที่ปลูกในประเทศไทย เพื่อการบริโภคผลสด และการแปรรูปทางอุตสาหกรรมในประเทศไทย

วันนี้ (20 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยมีการปลูกสับปะรดอย่างแพร่หลาย โดยครอบคลุมทั้งภาคตะวันตก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ส่วนภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ขณะที่ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง อุตรดิตถ์ เชียงราย พะเยา ภาคอีสาน จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุทัยธานี เลย หนองคาย ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ และภาคใต้ จังหวัดชุมพร ภูเก็ต ปัตตานี พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และระนอง ในปี 2556-2557 มีพื้นที่ปลูกสับปะรดรวม 584,473 ไร่ ผลผลิตที่ได้รวม 2,087,908 ตัน

ขณะที่พันธุ์สับปะรดในประเทศไทย จากข้อมูลสายพันธุ์สับปะรดที่มีการปลูกเพื่อการบริโภคผลสด และการแปรรูปทางอุตสาหกรรมในประเทศไทยของหนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน ระบุว่ามีทั้งหมด 14 สายพันธุ์ ได้แก่


1.พันธุ์ปัตตาเวีย

เป็นสับปะรดที่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น สับปะรดศรีราชา สับปะรดปราณบุรี ลักกะตา พันธุ์ตาดำตาแดง ลักษณะทั่วไปมีทรงต้นใหญ่กว่าพันธุ์อื่นๆ ใบมีสีเข้ม ผิวใบด้านบนเป็นเงามัน ขอบใบเรียบอาจมีหนามที่ปลายใบเล็กน้อย ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนัก 2-6 กิโลกรัม ก้านผลสั้น เปลือกผลสีเขียว รูปทรงกระบอก หรืออาจมีโคนใหญ่ปลายเรียว เนื้อละเอียด สีเหลือง แกนใหญ่ รสหวานแหลม มีเยื่อใยในเนื้อ ผลเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว เหลืองส้ม หรืออาจไม่เปลี่ยนสี ตาค่อนข้างลึกและเปลือกหนา

2.พันธุ์อินทรชิตแดง

สับปะรดพันธุ์นี้นับเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศไทย ลักษณะทั่วไปใบจะมีหนามแหลมคม รูปโค้งงอ สีน้ำตาลอมแดงที่ขอบใบ ใบสีเขียวอ่อน ใบด้านไม่เป็นมัน ไม่เป็นร่องชัดเจนเหมือนกับพันธุ์ปัตตาเวีย ขอบใบทั้งสองข้างจะมีแถบสีน้ำตาลตามยาว ผลมีขนาดเล็ก ผลย่อมนูนเด่น ตาลึกเนื้อในสีเหลืองทอง รสหวานอ่อน ไม่หอมจัด มีเยื่อใยมาก ไม่เหมาะกับการทำอุตสาหกรรมเนื่องจากมีผลขนาดเล็กเกินไป

3.พันธุ์อินทรชิตขาว

สับปะรดพันธุ์นี้มีลักษณะของทรงพุ่มค่อนข้างเตี้ย ใบแคบและสั้นกว่าพันธุ์อินทรชิตแดง ใบสีเขียวอมเหลืองหรือเขียวใบไม้ ขอบใบหนามงอโค้งสู่ปลาบใบ เนื้อผลสีเหลืองทอง รสหวานอ่อน คุณภาพของเนื้อไม่ดีนัก ผลมีหลายจุก ขนาดผลเล็กพอ ๆ กับพันธุ์อินทรชิตแดง

 

4.พันธุ์ภูเก็ต

สับปะรดพันธุ์นี้ มีชื่อเรียกในหลายรูปแบบ ทั้งสับปะรดฝรั่ง พันธุ์สวี พันธุ์ชุมพร โดยมีลักษณะเป็นทรงพุ่มปานกลาง ใบสีชมพูปนแดง ขอบใบมีหนามเรียงตัวกันเป็นระเบียบ ขนาดของผลเล็กกว่าทุกพันธุ์ ผลเป็นรูปทรงกระบอกได้สัดส่วน น้ำหนักผล 0.5-1 กิโลกรัม ปริมาณเยื่อใยในเนื้อต่ำมาก เนื้อเหลืองสดใส รสชาติหวานหอม กรอบ ปัจจุบันนิยมปลูกทางภาคใต้ โดยจะปลูกแซมสวนมะพร้าวและยางพาราปลูกใหม่ ซึ่งแหล่งปลูกที่สำคัญ คือ จ.ภูเก็ต,ชุมพร และตราด

5.พันธุ์นางแล

บางคนเรียกพันธุ์น้ำผึ้ง อาจจัดได้ว่าเป็นพันธุ์ย่อย ของพันธุ์ปัตตาเวีย เพราะมีลักษณะของลำต้น ใบ ดอก และรูปร่างอื่นๆ คล้ายคลึงกับสับปะรดในกลุ่ม Cayenne ทรงพุ่มไล่เลี่ยกัน ขอบใบเรียบไม่มีหนาม ขนาดผลเล็กกว่า มีทรงผลกรม โดยสับปะรดพันธุ์นี้ผลย่อยค่อนข้างโปนออกมาภายนอกผลเปลือกบาง เมื่อปอกเปลือกจึงไม่มีส่วนของตาฝังอยู่ข้างใน

 

6.สับปะรดศรีราชา

เป็นสับปะรดที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2558 รูปร่างกลมรี มีปลายจุกแหลม น้ำหนักผล 1.5-3.5 กิโลกรัม ก้านผลสั้น มีไส้ใหญ่ตาค่อนข้างตื้น เปลือกผิวผลดิบมีสีเขียวคล้ำ ผลสุกมีสีเขียวอิมเหลืองอมส้ม เนื้อละเอียดสีเหลืองอ่อน แต่จะเป็นสีเข้มในฤดูร้อน รสชาติหวานฉ่ำ มีกลิ่นหอม เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เกือบทั้งปีโดยผลผลิตจะออกมากช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. และเดือน ต.ค.-ธ.ค.

 

7.สัปปะรดตราดสีทอง

เป็นสับปะรดสายพันธุ์ควีน ที่มีคุณภาพดี ปลูกง่าย ปลูกได้ตลอดทั้งปี มีผลขนาดใหญ่ หวาน กรอบ ใบแคบและยาวสีเขียวอ่อนมีแถบหรือเส้นสีแดงตอนกลางใย ที่ขอบใบมีหนามสีแดงรูปโค้ง จุกมีหยามเหมือนใบ ส่วนผลเป็นรูปทรงกระบอกสม่ำเสมอเปลือกบาง เปลือกสีเขียวอมส้ม ผลแก่สีเหลืองทั้งผล ตานูนและลึก ขนาดผลหนัก 1.8-1.5 กิโลกรัม เนื้อมีสีเหลืองเข้ม ละเอียด ไม่ฉ่ำน้ำ เยื่อใยน้อยมีช่องว่างในเนื้อ แกนกลางเล็กสม่ำเสมอ เนื้อและแกนกรอบ รสหวานมาก มีกลิ่นหอม  สับปะรดตราดสีทองปลูกได้ทุกพื้นที่ใน จ.ตราด แต่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน ไม่ชอบที่ชื้นแฉะ ปลูกระหว่างแถวยางพารา ขณะที่ต้นยางพารามีขนาดเล็ก 1-3 ปี พื้นที่ที่นิยมปลูกมากอยู่ใน อ.เมือง จ.ตราด รองลงมาได้แก่ อ.เขาสมิง และ อ.บ่อไร่


8.สับปะรดห้วยมุ่น

เป็นสับปะรดสายพันธุ์ดีของ จ.อุตรดิตถ์ เป็นพันธุ์ปัตตาเวียจาก จ.ระยอง ชลบุรี แต่เมื่อนำมาปลูกที่ ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นดอยสูง ที่เชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 400 เมตร สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีลักษณะที่ดีหลายประการ เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค เช่น เนื้อเหลืองอมน้ำผึ้ง รสชาติหวานฉ่ำ ตาไม่ลึก ทำให้มีส่วนของเนื้อมาก ผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม รับประทานแล้วไม่ระคายคอ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 13,000 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 9,500 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 6 ตันต่อไร่ ฤดูกาลปลูกอยู่ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.

 

9.สับปะรดภูแลเชียงราย

เป็นสับปะรดในกลุ่มควีนที่ได้ ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2548 เมื่อ พ.ศ.2520 นายเอนก ประทีป ณ ถลาง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้นำหน่อพันธุ์สับปะรดภูเก็ต จากจังหวัดภูเก็ตมาปลูกครั้งแรกที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ทำให้สับปะรดภูแลมีลักษณะที่แตกต่างจากสับปะรดภูเก็ต คือ ขนาดผลเล็ก มีน้ำหนักตั้งแต่ 0.15-1 กิโลกรัม จุกมีลักษณะชี้ตรว ตาผลเต่งตึง โปนออกมาจากผลอย่างเห็นได้ชัด เปลือกค่อนข้างหนา เหมาะสำหรับการขนส่งระยะไกล เมื่อสุกเปลือกผลจะมีสีเหลืองหรือเหลืองปนเขียว เนื้อสีเหลือง กรอบ กลิ่นหอม แกนสับปะรดกรอบรับประทานได้ ปลูกได้ตลอดทั้งปี เก็บเกี่ยวเหลังจากออกดอกประมาณ 120-150 วัน ขึ้นกับฤดูกาล เรียกชื่อสับปะรดดังกล่าวว่า “สับปะรดภูแล” โดยการนำเอาชื่อ “ภูเก็ต” ซึ่งเป็นแหล่งปลูกเดิมมาผสมคำกับแหล่งปลูกใหม่ คือ “นางแล”

 

10.สับปะรดภูเก็ต

เป็นกลุ่มสายพันธุ์ควีน ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2550 หมายถึงสับปะรดที่อยู่ในสายพันธุ์ควีน ซึ่งปลูกใน อ.เมืองกะทู้และ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ลักษณะใบมีสีเขียวอ่อน มีแถบสีแดงบริเวณกลางใบ ขอบใบเรียบ มีหนามสีแดงตลอดความยาวของใบ ผลรูปทรงกระบอกขนาดกลาง มีน้ำหนักตั้งแต่ 0.9-1.6 กิโลกรัม ตัวจุกมีลักษณะตรงหรือเอียง ตาผลลึก เนื้อมีสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอ กลิ่นหอม เยื่อใยน้อย รสชาติหวานกรอบ แกนผลมีความกรอบมากแต่รับประทานได้


11.พันธุ์เพชรบุรี 1

เป็นสับปะรดกลุ่มควีนที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์จากประเทศไต้หวัน โดยกรมวิชาการเกษตรที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี ลักษณะทั่วไปนั้นเป็นผลสับปะรดขนาดใหญ่ น้ำหนัก 1.5-2 กิโลกรัม ตาโต ร่องตาลึก คล้ายพันธุ์ตราดสีทอง เนื้อสีเหลืองเข้มตลอดผล เยื่อใยน้อย รสชาติหวาน กลิ่นหอม ขอบใบมีหนามแหลมคม จุกมีหนาม

12.พันธุ์เพชรบุรี 2

เป็นสับปะรดที่นำสายพันธุ์เข้ามาจากฮาวาย ผลใหญ่มาก น้ำหนักผล 2-4 กิโลกรัม อายุการบังคับดอกนานกว่าทุกสายพันธุ์ ใบไม่มีหนาม เนื้อสีขาว อ่อนนุ้ม ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานมาก เป็นสับปะรดที่ให้จำนวนหน่อน้อยที่สุด

13.พันธุ์ภูชวาหรือไซโก้เบอร์ 6

เป็นสับปะรดที่พัฒนาขึ้นโดย รศ.จารุพันธ์ ทองแถม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการวิจัยที่ จ.ระยอง ขนาดผลน้ำหนัก 1.2-1.5 กิโลกรัม ผลอ่อนเปลือกสีเขียวอ่อน เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองสวยงามทั้งผล เนื้อสีเหลืองทองตลอดผล เนื้อนุ่มไม่มีเยื่อใย เคี้ยวไปไม่ติดฟัน มีกลิ่นหอม

14.พันธุ์ MD2

หรือคนไทยเรียกว่า “พันธุ์เหลืองสายร้อยยอด” หรือ “พันธุ์หอมสุวรรณ” เป็นสับปะรดลูกผสมจากฮาวาย สหรัฐอเมริกา ใช้บริโภคผล

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม


เบื้องหลัง! "สับปะรด" ภูแลล้นตลาด 


เตือนผู้ปลูกสับปะรดรายใหม่ "ส่อเจ๊ง" แบกต้นทุนไร่ละ 1.5 หมื่นบาท


"แจกฟรี" รัฐ-เอกชนรับซื้อสับปะรดช่วยชาวไร่พ้นวิกฤติ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง