ย้อนรอย 33 คนงานชิลี ติดอยู่ในเหมือง 69 วัน

ต่างประเทศ
27 มิ.ย. 61
07:24
35,500
Logo Thai PBS
ย้อนรอย 33 คนงานชิลี ติดอยู่ในเหมือง 69 วัน
ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เหมืองถล่มในประเทศชิลี เมื่อ 8 ปีก่อน ที่มีคนงาน 33 คนติดอยู่เหมืองใต้ดิน ซึ่งปฏิบัติการช่วยเหลือต้องใช้เวลานานถึง 69 วัน จึงสามารถช่วยเหลือคนงานทั้งหมดขึ้นมาได้

วันนี้ (27 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เหมืองถล่มในเมืองซานโฮเซ่ ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2553 ที่มีคนงาน 33 คนติดอยู่เหมืองใต้ดินนานถึง 69 วัน ซึ่งจุดที่คนงานเหมืองติดอยู่นั้นอยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 700 เมตร สิ่งที่ยากที่สุดคือการหาเส้นทางที่จะใช้อุปกรณ์เจาะลงไปว่าทำอย่างไรถึงจะเจาะไปถึงจุดที่คนงานติดอยู่ โดยไม่ทำให้เหมืองถล่มซ้ำอีก ซึ่งปฏิบัติการในครั้งนั้นต้องใช้เวลาวางแผนและดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อช่วยชีวิตคนงานทุกคน จึงใช้เวลานานประมาณ 2 เดือน แต่ในที่สุดปฏิบัติการนี้ก็สำเร็จ และคนงานทุกคนได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาอย่างปลอดภัย

ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าช่วงที่เกิดเหตุ มีคนงานทำงานอยู่ในเหมืองประมาณ 130 คน ในช่วงแรกสถานการณ์เต็มไปด้วยความสับสน เพราะไม่แน่ใจว่ามีคนติดอยู่ในเหมืองกี่คนกันแน่ และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม หรือ 17 วัน หลังเหมืองถล่ม คนงานที่ติดอยู่ในเหมืองได้เขียนข้อความกระดาษผูกติดกับอุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่หย่อนไปลง โดยเขียนว่า พวกเรา 33 คนสบายดีและพักอยู่ในส่วนที่เป็นห้องพักพิง ซึ่งหมายความว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่และมีอาหารกับน้ำพอประทังชีวิต

จุดนี้ทำให้เจ้าหน้าที่เริ่มต้นปฏิบัติการช่วยเหลือ ด้วยการหย่อนอาหารและน้ำลงไปให้ พร้อมกับช่วยให้คนงานได้ติดต่อกับครอบครัว แต่การนำคนงานออกมาจากเหมืองไม่ให้เรื่องง่าย จะต้องมีหาพิกัดที่ชัดเจนว่าคนงานอยู่ส่วนใดของเหมือง เพื่อที่จะเจาะท่อลงไปยังส่วนดังกล่าว และนำตัวคนงานขึ้นมา แต่กระบวนการเจาะต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เหมืองถล่มซ้ำอีก

ท่ามกลางการเอาใจช่วยของคนทั่วโลก ในที่สุด วันที่ 13 ตุลาคม 2553 หรือ 69 วัน หลังจากที่เหมืองถล่ม คนงานคนแรกได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งอุปกรณ์ที่นำพวกเขาขึ้นมาคือแคปซูลที่มีชื่อว่าฟีนิกซ์ เป็นแคปซูลที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 54 เซนติเมตร มีระบบออกซิเจนและลำโพงที่สามารถสื่อสารได้ โดยกองทัพเรือของชิลีร่วมมือกับองค์การนาซ่าของสหรัฐฯ ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ

คนงานทั้ง 33 คน ถูกนำตัวขึ้นมาครั้งละ 1 คน โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 22 ชั่วโมง 50 นาที ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลา 69 วัน ที่คนงานทั้ง 33 คน ติดอยู่ในเหมืองใต้ดิน ซึ่งคนงานทั้งหมดได้รับค่าตอบแทนจากการถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเอง และ 14 คนในจำนวนนี้ได้รับเงินบำนาญจากรัฐบาลด้วย โดยพิจารณาจากสุขภาพ อายุ และความเห็นของคนงานคนอื่นๆ ที่ติดอยู่ในเหมืองด้วยกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง