"เจาะเพดานถ้ำ" เปิดความกว้าง 100 เมตร ทะลุโถงพัทยาบีช

สังคม
28 มิ.ย. 61
10:19
10,613
Logo Thai PBS
"เจาะเพดานถ้ำ" เปิดความกว้าง 100 เมตร ทะลุโถงพัทยาบีช
กรมทรัพยากรธรณี เปลี่ยนแผน “ขยายเพดานถ้ำ” โดยเจาะภายในถ้ำใกล้จุดพัทยาบีช เพื่อเพิ่มความกว้าง 100 เมตร แต่การหาพิกัดเพื่อเจาะบนปากปล่องถ้ำหลวงก็ยังคงดำเนินการตู่ขนานกันต่อไป เพื่อช่วยผู้สูญหายทั้ง 13 คนโดยเร็วที่สุด

วันนี้ (28 มิ.ย.2561) นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า หลังจากทีมนักธรณีวิทยา ได้ร่วมกันวิเคราะห์ธรณีสัณฐาน และสร้างภาพจำลองสามมิติความหนาของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย พบว่ามีระดับความหนาของชั้นหินปูนตั้งแต่ 100 - 200 เมตร ซึ่งในทางเทคนิค บริษัทเอกชนขุดเจาะเหมืองสามารถทำได้ แต่อุปสรรค คือ การขนเครื่องจักรอุปกรณ์หนักไปเจาะบนปากปล่องถ้ำหลวง ที่คาดว่าจะใกล้จุดหาดพัทยาบีช ซึ่งคาดว่าเด็กทั้ง 13 คนจะไปอยู่ในจุดนั่น ซึ่งเป็นแผนที่ยังต้องดำเนินการอยู่

นายทศพร กล่าวอีกว่า ส่วนแผนใหม่ที่ต้องทำคู่ขนานทันที คือการขยายถ้ำด้านใน ซึ่งมีความแคบและน้ำท่วมถึงเพดานถ้ำ จนทำให้หน่วยซีลยังไม่สามารถเข้าถึงโถงถ้ำในจุดต่อไปถึงหาดพัทยาบีช หรือจุดที่ลึกกว่านั่นได้

เบื้องต้น ประเมินว่าต้องเจาะเพดานถ้ำ หรือขยายให้มีความกว้างประมาณ 100 เมตร ให้มีเพดานที่กว้างขึ้น ซึ่งขณะนี้ทีมเอกชน กำลังเร่งวิเคราะห์สัณฐานถ้ำและเตรียมเข้าพื้นที่เพื่อทำงานให้เร็วที่สุด ยอมรับว่าทางเลือกนี้ยอมทำลายถ้ำ และเสียรูปถ้ำเพื่อแลกกับชีวิตคน และถ้าลงมือต้องทำต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง

การเจาะขยายเพดานถ้ำ เพราะระดับน้ำสูงขึ้น ทำให้การทำงานชะลอ และการเข้าถ้ำใช้วิธีดำน้ำ ดังนั้นจึงต้องมีการขยายพื้นที่ว่างระหว่างน้ำและเพดานถ้ำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่โผล่พ้นน้ำ จนสามารถหายใจและใช้ไฟส่องสว่างได้ จากนั้นจึงจะใช้เชือกหรือวิธีอื่นๆ อำนวยความสะดวกต่อไป

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า  เครื่องมือที่ใช้ จะมีลักษณะคล้ายกับเครื่องมือที่ใช้เจาะถนน ที่มีการเจาะและกระแทก เพื่อเอาหินบนเพดานถ้ำออก โดยขนเครื่องมือดังกล่าวไว้บนแพ แต่ในพื้นที่ที่น้ำไม่ลึกมาก ก็สามารถใช้คนเข้าไปเจาะได้เลย เบื้องต้นคาดว่าจะขยายเพดานถ้ำในช่วงที่นักประดาน้ำพบปัญหา เป็นระยะเท่าใดจำตัวเลขชัดเจนไม่ได้ เพราะต้องคำนวณและเป็นเรื่องเทคนิก ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการขึ้นอยู่กับการขนเครื่องมือที่จะใช้งานเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเป็นที่แคบ และเมื่อปฏิบัติงานแล้วต้องทำแบบต่อเนื่อง

นอกจากนี้ประเด็นโครงสร้างถ้ำที่เป็นหินปูน จะทำให้เจาะได้ง่ายกว่าหินอื่น และถ้ำมีเนื้อแน่น ซึ่งจะทำให้โอกาสที่หินจะถล่มน้อยกว่าเนื้อหินแบบอื่นด้วย ส่วนเรื่องความเสี่ยงจากการเจาะขยายเพดานถ้ำจะกระทบต่อผู้ประสบภัยหรือไม่ คาดว่าจุดที่จะขยายเพดาน น่าจะห่างจากจุดที่ผู้ประสบภัยหลบอยู่ 2-3 กิโลเมตร จึงไม่น่ามีปัญหา อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมมีการอนุมัติหรือไฟเขียว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะปฏิบัติการทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

เปิดแผนที่กรมทรัพยากรธรณี มาร์ก 3 ตำแหน่ง "เจาะถ้ำหลวง"

กรมทรัพยากรธรณี วิเคราะห์ความหนาถ้ำหลวง "เจาะผนังถ้ำ”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง