พรุ่งนี้เร็วสุด! "เจาะถ้ำหลวง" ทะลุโถงพัทยาบีช

สังคม
29 มิ.ย. 61
20:13
8,435
Logo Thai PBS
พรุ่งนี้เร็วสุด! "เจาะถ้ำหลวง" ทะลุโถงพัทยาบีช
หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ระบุ ทีมงานสำรวจจุดเจาะเหนือถ้ำหลวง ทะลุหาดพัทยา และประเมินความหนา-ลักษณะผนังถ้ำจัดทำข้อมูลกำหนดตำแหน่ง พร้อมส่งเครื่องขุดเจาะเตรียมพร้อม คาด "เจาะถ้ำ" ได้เร็วที่สุดวันพรุ่งนี้

วันนี้ (29 มิ.ย.2561) นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า แผนการช่วยค้นหาผู้สูญหายทั้ง 13 ชีวิตติดในถ้ำหลวง ทีมงานได้ทำการสแกนดูตำแหน่งโพรงถ้ำ เนื่องจากการรู้ตำแหน่งที่ชัดเจนสำคัญที่สุด โดยทีมงานได้ตั้งแผนการเจาะถ้ำไว้ 2 ด้าน คือ เจาะถ้ำด้านนอก จากโพรงถ้ำที่เจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนสำรวจพบวานนี้เจ้าหน้าที่พบจุดเจาะ ที่มีระดับสูง 1,050 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงจากปากถ้ำ 600 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ห่างจากหาดพัทยาตามแผนที่ 500 เมตร ใกล้ ๆ ดอยผาหมี

โดยหากจะเจาะจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ยกเครื่องเจาะขึ้นไป  แต่ทีมงานประเมินว่าจุดดังกล่าวอาจจะสูงเกินไป และใช้เวลาเจาะนาน รวมทั้งเครื่องเจาะต้องมีขนาดใหญ่จึงต้องหาจุดใหม่ต่อไป

นายสุทธิศักดิ์ ระบุว่า หากสามารถเจาะทะลุได้ ก็อาจจะส่งกล้องไปส่องสำรวจผู้สูญหาย หรือส่งอาหารไปได้ แต่ต้องขอให้เจอตำแหน่งที่ชัดเจนก่อน เนื่องจากภายในถ้ำหลวง มีถ้ำหลอกเยอะ เพราะหินปูนมีโพรงถ้ำเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่โพรงที่จะสามารถทะลุไปยังโถงพัทยาบีชได้ ซึ่งความยากลำบากในการเจาะจากจุดเหนือถ้ำ คือ ลักษณะพื้นที่ด้านนอกเป็นหน้าผาชัน ทำให้ทีมงานสำรวจและสแกนเก็บข้อมูลยาก

เมื่อได้ตำแหน่งแล้วต้องทำการปรับเทียบกับแผนที่ของตำแหน่งถ้ำก่อน และต้องประเมินการเจาะหินย้อย เนื่องจากอาจสั่นสะเทือน ถ้าเจาะได้โดยไม่มีอุปสรรค การยุบตัวของหินอาจจะอยู่ที่ 10 – 15 เมตรต่อชั่วโมง คาดว่าในหนึ่งวันจะเจาะได้ 80-100 เมตรต่อวัน ถ้าทำงานต่อเนื่องน่าจะทำได้ประมาณ 150 เมตร

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี


ขณะที่เมื่อเวลา 13.00 น. ทีมงานได้จัดทำ cross section เพื่อหาระยะทางในแนวดิ่งจากบนเขาถึงพื้นถ้ำ และความหนาของผนังถ้ำเพื่อเจาะแนวข้าง โดยได้มีการปรับปรุง Base Map ฉบับใหม่จนแล้วเสร็จ และเริ่มจัดทำข้อมูลลักษณะภูมิประเทศ 3 มิติ เผยแพร่ใน DMR webgis 

ต่อมาทีมงานได้กำหนดตำแหน่งโพรง ปล่อง หลุมยุบ จากการแปลความหมายข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงในพื้นที่ ข และ ค เพิ่มเติม รวมทั้งกำหนดแนวทางน้ำ และทิศทางการไหลของทางน้ำ ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งถ้ำอื่นๆ ข้างเคียงพบทิศทางการไหลของน้ำไหลจากถ้ำหลวงไปทางถ้ำ Pha ถ้ำ Na และถ้ำLiang Pha 

กำหนดพิกัดเจาะถ้ำ เจาะเร็วสุดพรุ่งนี้

ขณะที่เวลา 18.00 น. ทีมงานได้จัดทำ cross section เพื่อหาระยะทางในแนวดิ่งจากบนเขาถึงพื้นถ้ำ ความหนาของผนังถ้ำเพื่อการเจาะแนวข้าง โดยทีมได้ดำเนินการหาความหนาของเพดานถ้ำ แบบ Relative ระยะทางในแนวดิ่ง พบมีความหนา 339-763 เมตร  ต่อมาจึงได้กำหนดตำแหน่งโพรง ปล่อง หลุมยุบ จากการแปลความหมายข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง ในพื้นที่เพิ่ม 

ทั้งนี้ ทีมงานได้ส่งเครื่องเจาะ Sky Type จำนวน 2 เครื่อง ที่สามารถเจาะได้ลึกถึงประมาณ 220 เมตร และ 120 เมตร โดยเครื่องขนาด 120 เมตร ส่งไปถึงพื้นที่แล้ว ส่วนเครื่องขนาด 220 เมตร อยู่ระหว่างการดำเนินการขนย้าย คาดจะสามารถเจาะผนังถ้ำเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่หน่วยซีลทำการค้นหาผู้สูญหายทั้ง 13 คนได้ภายในวันพรุ่งนี้

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง