"กรมอุทยาน" วางแผนสำรวจฟื้นฟูถ้ำหลวง เชื่อติดอันดับท่องเที่ยวยอดฮิต

สิ่งแวดล้อม
3 ก.ค. 61
15:20
3,381
Logo Thai PBS
"กรมอุทยาน" วางแผนสำรวจฟื้นฟูถ้ำหลวง เชื่อติดอันดับท่องเที่ยวยอดฮิต
เตรียมสำรวจความเสียหายสิ่งแวดล้อมภายในและนอกถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย หลังภารกิจช่วยค้นหาทีมฟุตบอลหมูป่าแล้วเสร็จ คาดจะขึ้นแท่นเป็นสถานที่ท่องเทียวยอดฮิตในอนาคต ต้องเตรียมแผนรองรับ และประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติใหม่

วันนี้ (3 ก.ค.2561) นายจงคลาย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ วางแผนสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูล่วงหน้าทั้งสภาพพื้นที่ ภูมิทัศน์ในระยะสั้น และระยะกลาง ซึ่งจากกการประเมินเบื้องต้นการเข้าปฎิบัติภารกิจค้นหาทีมฟุตบอล ถึงแม้จะมีผลกระทบบ้าง เช่นการเจาะโพรงทั้งภายนอกและภายในถ้ำ แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถฟื้นฟูได้ ไม่ได้ทำให้เสียหาย และมีการเตรียมมาร์กแต่ละจุดเอาไว้แล้ว

นายจงคล้าย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังต้องเตรียมวางแผนพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งช่วงเช้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนให้เตรียมการฟื้นฟู รวมทั้งมีความเป็นไปได้สูงว่าหลังจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพิสูจน์ความสวยงามของถ้ำหลวงมากขึ้น ดังนั้นกรมอุทยานฯจะต้องมีแผนแม่บทและปรับภูมิทัศน์ต่างๆ รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจุดไหนควรปิด หรือเปิดเพื่อการท่องเที่ยวได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ 

 

 

และอนาคตอาจจะเสนอประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ยกระดับจากวนอุทยานแห่งชาติ แต่ทั้งหมดต้องเร่งทำแผนต่างๆรวมทั้งฟื้นฟูร่องรอยต่างให้แล้วเสร็จก่อน

สำหรับวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2529 ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 453 เมตร

ถ้ำหลวง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้างมาก ภายในถ้ำมีเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำและถ้ำลอด ภายในถ้ำยังมีถ้ำเล็กๆ อีก 3 แห่ง ในบริเวณเดียวกัน

โถงถ้ำแรกที่เปิดกว้างระดับพื้นดินต่ำกว่าปากถ้ำมากเนื่องจากเป็นร่องทางน้ำที่ไหลออกจากถ้ำ โดยมีร่องน้ำผ่านระหว่างโถงที่ 1 และทางขวามือของร่องน้ำจะเป็นโนนดินที่สูงขึ้น มีร่องรอยหลุมยุบ และเป็นโถงที่ 2 ต่อจากโถงที่ 1 มีร่องรอยหินถล่มด้านซ้ายมือ เมื่อสิ้นสุดบันไดจากบริเวณปากถ้ำ เป็นทางเดินดินสั้น ๆ

 

ต่อจากนั้นเป็นขั้นบันไดที่เทด้วยปูนซีเมนต์จำนวน 5-6 ขั้น ยกระดับขึ้นทอดเข้าสู่ความยาวของตัวถ้ำ โดยที่ในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมภายในถ้ำ และบริเวณร่องน้ำโถงที่ 1

แนวโถงถ้ำมีโถงหลักเพียงโถงเดียว แต่เส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเดินเข้าถึงได้ง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ จนถึงเส้นทางเดินลำบาก มีความยาวรวม 759.76 เมตร และโถงแยกฝั่งตรงข้ามทางเดินเข้าถ้ำ มีความยาว 68.27 เมตร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

“โซเชียล” โพสต์ไม่หยุด ดีใจ 13 ชีวิตรอดแล้ว 

 "222 ชั่วโมง" 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง

บทสนทนาแรก "หมูป่า-ทีมดำน้ำอังกฤษและซีล"

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง