โรงพยาบาลสนามถ้ำหลวง พร้อมรับ "ทีมหมูป่า"

สังคม
4 ก.ค. 61
15:40
1,905
Logo Thai PBS
โรงพยาบาลสนามถ้ำหลวง พร้อมรับ "ทีมหมูป่า"
โรงพยาบาลสนามถ้ำหลวง พร้อมรับรักษาทีมหมูป่าทั้ง 13 คน หลังออกมาจากถ้ำ ด้วยบุคลากรทางการแพทย์กว่า 100 คน และอุปกรณ์-เครื่องมือที่มีการเตรียมการในขั้นสูงสุด

วันนี้ (4 ก.ค.2561) พล.ต.วุฒิไชย อิศระ แพทย์ใหญ่ กองทัพภาคที่ 3 หัวหน้าทีมโรงพยาบาลสนาม กล่าวว่า ขณะนี้มีแพทย์เข้าไป ตรวจร่างกายทีมหมูป่าเบื้องต้นแล้ว ส่วนอาการบาดแผลที่เห็นในคลิปวิดีโอนั้น ไม่ใช่แผลฉกรรจ์ ขณะนี้ให้ทานอาหารเหลวอยู่ ยืนยันไม่ได้ให้รับประทานข้าวเหนียวหมู


สำหรับการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์หน้าถ้ำหลวงนั้น มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่จะถูกจัดตั้งขึ้นตามภารกิจยุทธวิธีที่มีการสั่งการเท่านั้น โดยแบ่งประเภทออกเป็น 3 ระดับ คือ 1 2 และ 3 ส่วนโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ เป็นโรงพยาบาลสนามระดับ 2 คือ อยู่ในระดับช่วยชีวิตเบื้องต้น มีบุคลากรทางการแพทย์จากหลายหน่วยงาน ทั้งจากกองทัพภาคที่ 3 จากโรงพยาบาลกองทัพบก 10 โรงพยาบาล รวมทั้งกรมการแพทย์ทหารบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเฉพาะบุคลากรจากกองทัพก็มีจำนวนถึง 130 คน 


หัวหน้าทีมโรงพยาบาลสนาม ระบุว่า การทำงานของแพทย์โรงพยาบาลสนามนั้นมีการเตรียมความพร้อมและวางแผนไว้ทุกขั้นตอนอย่างรัดกุมเพื่อรักษาทีมหมูป่าทั้ง 13 คน โดยทางโรงพยาบาลมีบุคลากรซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทาง เช่น อายุรแพทย์ปอด อายุรแพทย์ตับ ถือได้ว่าเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กที่มีการเตรียมการในขั้นที่เรียกว่าสูงสุด


ขณะที่โรงพยาบาลสนามได้ต้นแบบจากโรงพยาบาลทหารบก และมีความพิเศษ คือ เป็นโมบาย ยูนิต ที่สามารถจัดเก็บรวบรวมแล้วบรรจุใส่รถกระบะเพียงแค่คันเดียวก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ เหมาะกับการช่วยเหลือฉุกเฉินหรือการกู้ภัย และใช้เวลาเพียงแค่ 4-6 ชั่วโมง ก็จัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่สมบูรณ์แล้วเสร็จ


ทั้งนี้ ทีมโรงพยาบาลแพทย์สนามทุกคนมีการซ้อมแผนอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาทีมหมูป่าทั้ง 13 คน หลังออกมาจากถ้ำหลวง แม้ว่าวิดีโอที่ทีมหมูป่าได้พูดคุยกับหน่วยซีลและหมอภาคย์ จะแสดงให้เห็นว่าทั้ง 13 คน อยู่ในภาวะไม่รุนแรง ทุกคนดูสบาย แข็งแรง ไม่ได้ป่วยจนนอน หรือลุกขึ้นเดินไม่ได้ แต่เนื่องจากหลักการทางการแพทย์ การรักษาอาจมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

 

8 ขั้นตอน ลำเลียงหมูป่ารักษาตัว

โดยหากนำตัว 13 ผู้ประสบภัยออกจากถ้ำได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้ซักซ้อมเอาไว้ เบื้องต้น มี 8 ขั้นตอน เพื่อลำเลียง "ทีมหมูป่า" 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เพื่อส่งต่อ 13 ชีวิตไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ คือ

1. หน่วยเตรียมขนส่งนำผู้ประสบภัย ให้อยู่บนบอร์ดลำเลียง พร้อมประเมินอาการตอบสนองเบื้องต้น ก่อนลำเลียงออกจากปากถ้ำไปที่รถพยาบาล

2. หน่วยให้การรักษาเบื้องต้น ประเมินอาการผู้ประสบภัย หากยังช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จะพาออกมาหน้าถ้ำ เพื่อขึ้นรถพยาบาลทันที แต่หากอยู่ในอาการวิกฤติ ต้องทำการปฐมพยาบาลก่อน

3. ลำเลียงผู้ป่วยทั้งหมดไปยังโรงพยาบาลสนาม ใกล้ปากทางเข้าถ้ำ

4. หน่วย Triage and Resuscitation จะทำการวิเคราะห์อาการตามความรุนแรง และความเร่งด่วน ให้การรักษา พร้อมตัดสินใจในการส่งตัวต่อ หากมีอาการเร่งด่วนจริงๆ ก็จะทำการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันที เนื่องจากมีความพร้อม รวมถึงสามารถทำการผ่าตัดได้

5. หน่วยขนส่ง ลำเลียงผู้ป่วยไปยังท่าอากาศยาน ก่อนเร่งลำเลียงไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

6. หน่วยดูแลผู้ป่วยนำผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล โดยจะมี Sky Doctor 2 คน ทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยบนเฮลิคอปเตอร์ เป็นทีมจากโรงพยาบาลตำรวจ และทีมทหาร

7. หน่วยดูแลผู้ประสบภัยที่ลานบินเป้าหมาย ดูแลผู้ประสบภัยจากสนามบินเก่าไปยัง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 นาที

และ 8. หน่วยดูแลผู้ป่วยของ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งทางโรงพยาบาลเตรียมพร้อมไว้ทั้งหมด 13 ทีม ประเมินอาการ พร้อมนำข้อมูลจากแพทย์สนามมาดู เพื่อเตรียมการรักษาภายใน 30 นาที ตามสภาพอาการของแต่ละคน

หากนำตัว 13 ผู้ประสบภัยออกจากถ้ำได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ซึ่งโรงพยาบาลสนามเป็นอีกส่วนสำคัญสำหรับภารกิจในครั้งนี้

 

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

ผู้ว่าฯ เชียงราย ปรับแผนใหม่ลำเลียง "ทีมหมูป่า"ออกทีละคน

สธ.เผยวิธีฟื้นฟูร่างกายทีมหมูป่าก่อนช่วยออกจากถ้ำ

"ทีมหมูป่า" รายงานตัวจากถ้ำหลวง ยืนยันทุกคนสุขภาพดี

รู้จัก "อดุลย์" ทีมหมูป่า "สปีคอิงลิช" ในถ้ำหลวงกับทีมดำน้ำอังกฤษ

กรมชลฯ ทำทางเบี่ยงตัดยอดน้ำ 13,000 ลบ.ม. เข้าท้ายถ้ำหลวง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง