เด็กเป็น "ผู้ประสบภัย" ไม่ใช่ "ฮีโร่" ขอสังคมถอดบทเรียนจากทีมช่วยชีวิต

สังคม
4 ก.ค. 61
19:01
2,855
Logo Thai PBS
เด็กเป็น "ผู้ประสบภัย" ไม่ใช่ "ฮีโร่"  ขอสังคมถอดบทเรียนจากทีมช่วยชีวิต
จิตแพทย์เด็กระบุ เยาวชนเป้นโค้ชทั้ง 13 คน เป็นผู้ประสบภัยไม่ใช่ฮีโร่ ขอสังคมไม่ควรซ้ำเติม แนะผู้ปกครองสังเกตอาการระยะยาว หวั่นมีผลกระทบด้านจิตใจ แนะสังคมเรียนรู้ร่วมกันจากการร่วมมือของทุกฝ่ายในการช่วยเหลือเด็ก

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เยาวชนและโค้ชทั้ง 13 คนที่ติดภายในถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อออกมาจากถ้ำ ควรที่จะเป็นบทเรียนให้กับสังคมให้เรียนรู้ในการเอาตัวรอด แต่ไม่ควรทำให้เป็นฮีโร่ เพราะทั้งหมดเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ ควรปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนกับบุคคลปกติที่รอดชีวิตกลับมา บุคคลที่เป็นฮีโร่คือผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือทั้งหลาย

การที่จะไปมอบทุนหรือให้โอกาสพิเศษกับเด็กเหล่านี้ ถือเป็นโชคร้ายเพราะเขาติดในถ้ำและจะยังมาติดกับดักชีวิต อะไรที่ได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายาม ชีวิตของพวกเขาอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่ต้องเรียนรู้ไม่ใช่เพียงเรื่องของโอกาสหรือความบังเอิญ หรือมีเหตุอะไรก็กลายเป็นฮีโร่ ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นควรจะเป็นสิ่งที่สอนเขาได้ดีกว่า ทุกอย่างควรจะตรงไปตรงมา เขาพยายามก็ควรจะได้รับ ไม่ควรได้รับอภิสิทธิ์ เพราะไม่ใช่ฮีโร่แต่เป็นผู้ประสบภัย

พญ.จิราภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มนุษย์ไม่ได้พัฒนาโดยความรู้สึกเชิงลบ ทุกคนควรคิดว่าไม่มีใครที่ตั้งใจประสบภัยให้ตัวเองเข้าไปติดอยู่ในถ้ำนาน 10 วัน ความประมาทเลินเล่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และด้วยเหตุการณ์ก็สามารถเรียนรู้ได้แล้วโดยไม่ต้องบอกเลยว่ามีผู้ส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือพวกเขาเป็นจำนวนมาก หรือการออกรายการควรจะเป็นการเดินทางขอบคุณผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือให้สังคมได้เรียนรู้ ความหมายของการมีชีวิต เห็นความซาบซึ้งที่เขาได้ขอบคุณผู้ที่ทำให้เขามีชีวิตรอด การมีชีวิตเพื่อบุคคลอื่นเพื่อช่วยชีวิตคนอื่น เป็นสิ่งที่สังคมและตัวเด็กจะได้เรียนรู้ และรู้ว่าชีวิตมีความหมาย

คลิปสั้นๆ ที่ออกมา ที่เห็นบ่นหิว ไม่ได้บอกอะไรมากนักเพียงบอกได้ว่าเขาไม่ได้แย่ ไม่แย่ขนาดซึม กำลังใจใช้ได้ ซึ่งในผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงกับชีวิตเช่นนี้ หลายครั้งจะพบว่า เจอกับภาวะความเครียดรุนแรง หลังประสบเหตุการณ์ร้ายหรือภัยพิบัติ ซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นทันทีหรือเกิดขึ้นภายหลังได้

พญ.จิราภรณ์ หลังจากนี้ผู้ปกครองและคนใกล้ชิด ควรสังเกตอาการเด็กทั้งหมด โดยมีหลัก 3 ประการ คือ 1.เร้า อาการกระตุ้นเร้า ซึ่งเมื่อคิดถึงเรื่องนี้จะมีอาการใจสั่น กังวล มีความกลัวที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อไปที่คล้ายกับถ้ำ เช่น ที่มืด ที่เย็น กลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ 2.อาการหลอน หลายคนจะมีภาพที่ฉายซ้ำ เช่น การนอนในที่มืด กลัวตาย ภาพของการหนี ฝันร้าย เห็นภาพแบบนี้บ่อยๆ ในช่วงที่ไม่มีสมาธิที่ต้องสังเกต 3.อาการหลบเลี่ยง หลบเลี่ยงที่มืด ไม่พูดถึงถ้ำ เห็นภาพไม่ได้ เห็นข่าวไม่ได้ มันจะเกิดขึ้นได้เมื่อผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ

 

 

ทั้งนี้ เด็กเหล่านี้มีบาดแผลทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งอยากให้พ่อแม่ทราบว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะทำให้มันเกิดขึ้น หรืออาจเป็นความโชคร้าย เพราะเข้าในจังหวะที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ควรซ้ำเติมทำโทษ ขู่ ทำให้หลาบจำ ฟังลูกเยอะๆ ว่าเขากลัวมากแค่ไหน มีอะไรที่กังวล และควรที่จะชมจุดแข็งของเขาว่ามีจิตใจที่เข้มแข็ง ว่าผู้ปกครองภูมิใจที่ผ่านเรื่องร้ายๆ มาได้

 

 

นอกจากนี้ การถามคำถามเด็กก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คำถามอาจไม่สำคัญเท่าระยะเวลาเมื่อเด็กยังไม่พร้อม แม้ว่าจะเป็นคำถามง่ายๆ ควรรอให้เด็กฟื้นฟูตัวเองจนมีความพร้อมที่จะพูดถึงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ การตั้งคำถามที่สำคัญคือ เราอยากจะเรียนรู้อะไรกับเด็กกลุ่มนี้ เช่นเอาตัวรอดได้อย่างไร ดำรงชีวิตอย่างไร ตัดสินใจเข้าไปเพราะอะไร เกิดเหตุแล้วอยู่อย่างไร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการสอบถาม ซึ่งความพร้อมของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งต้องประเมินความพร้อมเป็นหลัก และการเรียนรู้วิธีคิด การปลอบใจอย่างไร

 

 

ขณะที่ในแวดวงสื่อสารมวลชน คำถามถึงการอยู่ในถ้ำ 10 วันได้อย่างไร เป็นเรื่องเล็กกว่าภาพใหญ่ของเหตุการณ์ที่คนทั้งหลายตัดสินใจสละความสุข เผชิญความเสี่ยง เข้ามาช่วย ซึ่งคนเหล่านี้ควรจะถอดบทเรียนแทนที่จะไปมุ่งที่เด็กว่ารอดมาได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมทำให้เรามีต้นแบบ เห็นแบบอย่างของการทำอะไรเพื่อคนอื่น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่จะได้เห็นคนเก่งที่มีความหลากหลาย ซึ่งไม่มีคนเก่งเพียงคนเดียวที่ทำให้เด็กรอดมาได้ ซึ่งต้องมีความเก่งที่หลากหลายที่ทำงานเป็นทีม เป็นบทเรียนที่น่าถอด จนถึงพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาว่ามีวิธีคิดอย่างไรลูกถึงเป็นฮีโร่ ช่วยเหลือคนอื่น

 

กรณีในต่างประเทศ โดยหลักจะไม่ให้พูดกับสื่อมวลชน เพราะควบคุมไม่ได้ หากหวังว่าจะให้เด็กดีขึ้นควรให้พูดกับผู้เชี่ยวชาญ เด็กจะค่อยๆเล่าให้จิตแพทย์ ผู้ที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกตรงนั้น ในต่างประเทศอาจไม่ให้เด็กออกสื่อเลยจนกว่าเหตุการณ์จะผ่านนานพอ จนกว่าจะเด็กจะพร้อมซึ่งต้องระวังเพราะอาจส่งผลกระทบในระยะยาวของเด็กแต่ละคน ขณะที่การตัดสินหรือกล่าวโทษไม่ควรเกิดขึ้นเพราะจะเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่ และอยากฝากว่าหลายคนไม่รู้เหตุการณ์แต่ชอบตัดสินและใช้อารมณ์ ซึ่งเป็นการใช้อารมณ์และความคิดเห็นกับสิ่งที่ไม่ใช่ความจริง

ก่อนจะโพสต์ถามตัวเองก่อนว่ามันเป็นประโยชน์กับใคร จะได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ และจะทำให้ใครเจ็บปวดกับสิ่งที่เราจะพิมพ์หรือโพสต์มั้ย ถ้าไม่เป็นประโยชน์และสร้างความเจ็บปวดก็ควรหลีกเลี่ยง

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง