ออกซิเจนลดเสี่ยง Hypoxia แนะเร่งสูบน้ำช่วยเพิ่มอากาศในถ้ำ

สังคม
6 ก.ค. 61
19:39
3,593
Logo Thai PBS
ออกซิเจนลดเสี่ยง Hypoxia แนะเร่งสูบน้ำช่วยเพิ่มอากาศในถ้ำ
แพทย์ เผยหากปริมาณออกซิเจนลดลงส่งผลการรับรู้ตัวลดลง มึน แนะเร่งสูบน้ำช่วยเพิ่มออกซิเจนในถ้ำจากจุดต่างๆ ที่ดูดอากาศเข้าในถ้ำ ขณะที่การขนส่งท่ออากาศเข้าไปค่อนข้างยากลำบากเนื่องจากเส้นทางที่มืดและลื่นอาจเกิดอันตรายได้

วันนี้ (6 ก.ค.61) นพ.สรฤทธิ์ เกียรติเฟื่องฟู แพทย์เวชศาสตร์การบินและการกู้ภัยชั้นสูง ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า กล่าวถึงการเติมอากาศในถ้ำหลวงว่า กรณีออกซิเจนในถ้ำเหลือร้อยละ 15 ซึ่งปริมาณออกซิเจนในถ้ำลดลงหากเทียบกับออกซิเจนภายนอกถ้ำ อากาศจะมีออกซิเจนอยู่ที่ร้อยละ 21 หรือ ออกซิเจนในถ้ำลดเหลือ 1 ใน 3

เมื่อออกซิเจนลดลง ผลที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายคือ ภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia)คือ จะรู้สึกหายใจไม่เต็มอิ่ม การรับรู้ตัวลดลง อาจสับสน มึนงง การขยับตัว การเคลื่อนตัว การร่วมมือกับบุคคลอื่นลดลง บางครั้งออกซิเจนที่ค่อยๆ ลดลงอาจไม่รู้ตัวจนกระทั่งรู้สึกซึม หรือ สับสน แต่ส่วนใหญ่จะรู้สึกหายใจลำบาก ซึ่งจะกระทบทั้งระบบหายใจ ระบบเลือด สมอง ประสาท กล้ามเนื้อ จะส่งผลกระทบในแทบทุกส่วน

การที่จะเติมออกซิเจนเข้าไปปริมาณเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนคนภายในถ้ำ และการใช้ออกซิเจน จากกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ เมื่อปริมาณอากาศลดลง ผู้ที่อยู่ในถ้ำควรตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก และไม่ขยับเกินความจำเป็น โดยปริมาณออกซิเจนที่ลดลงจะส่งผลในแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ขึ้นอยู่ความแข็งแรงของร่างกายว่าจะรับภาวะพร่องออกซิเจนได้เท่าไหร่ ถ้าเป็นผู้ประสบภัยหรือโค้ชก็อาจจะได้ส่งผลกระทบเร็วกว่าหน่วยซีล

ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อออกซิเจนภายในถ้ำเพราะน้ำจะเข้าแทนที่อากาศ ออกซิเจนที่มีอยู่ก็จะลดลง และหากสูบน้ำออกจนมีรูที่อากาศเข้ามาได้ อากาศใหม่ก็จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มได้ ขณะที่สาเหตุหลักที่ออกซิเจนจะลดลงอยู่ที่การใช้ของคนที่อยู่ภายในถ้ำ

นพ.สรฤทธิ์ คาดว่าจากนี้ไปทางเจ้าหน้าที่น่าจะประเมินความเสี่ยงว่าจะสามารถนำตัวเยาวชนและโค้ชออกมาจากถ้ำได้เร็วแค่ไหน ซึ่งผู้ที่เข้าไปต้องมีภารกิจที่ชัดเจนมากกว่าการเน้นจำนวนเข้าไป การเติมออกซิเจนก็เหมือนกับการอัดอากาศจากภายนอกเข้าไปในพื้นที่ลึกๆ มากขึ้น ขณะที่การนำท่ออากาศเข้าไปในระยะทางที่ยาวก็มีความเสี่ยงโดยเฉพาะผู้ที่ลำเลียงท่อเข้าไป เนื่องจากเส้นทางค่อนข้างแคบและลื่น ก็อาจจะเกิดอันตรายได้ โดยแนวทางที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ การเร่งระบายน้ำออก อากาศที่มาจากโพรงหรือปล่องอื่นก็จะดูดอากาศจากข้างนอกมาได้

ทั้งนี้ เมื่อปริมาณอากาศลดลง ผู้ที่อยู่ในถ้ำควรตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก และไม่ขยับเกินความจำเป็น อาการที่สังเกตได้คือ รู้สึกหายใจไม่เต็มอิ่ม หรือ บางครั้งออกซิเจนที่ค่อยๆ ลดลงอาจไม่รู้ตัวจนกระทั่งรู้สึกซึม หรือ สับสน แต่ส่วนใหญ่จะรู้สึกหายใจลำบาก ซึ่งจะกระทบทั้งระบบหายใจ ระบบเลือด สมอง ประสาท กล้ามเนื้อ จะส่งผลกระทบในแทบทุกส่วน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง