"ปิดถ้ำหลวง" 6 เดือน เตรียมฟื้นฟูหลังจบภารกิจช่วยทีมหมูป่า

สังคม
11 ก.ค. 61
12:11
5,615
Logo Thai PBS
"ปิดถ้ำหลวง" 6 เดือน เตรียมฟื้นฟูหลังจบภารกิจช่วยทีมหมูป่า
กรมอุทยานฯ ปิดถ้ำหลวงชั่วคราว 6 เดือน พร้อมเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศกลับคืนสภาพเดิม กำหนดโซนนิ่งพื้นที่ต้องห้าม คาดต้องใช้เวลา 1 ปี พร้อมชงเสนอแผนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต หลังภารกิจช่วยทีมหมูป่าสำเร็จ

วันนี้ (11 ก.ค.2561) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังสิ้นสุดภารกิจนำตัวนักทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ทั้ง 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟูถ้ำหลวง ให้ระบบนิเวศกลับมาเป็นปกติ

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูพัฒนาถ้ำหลวงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต้องทำให้เกิดความปลอดภัย เพื่อวันหน้าจะได้พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีมาตรการป้องกันการเข้าออก ไม่ควรเข้าไปในฤดูน้ำระบบแจ้งเตือน  ป้ายแจ้งเตือน เป็นต้น เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในอนาคต และตอนนี้ยังมีมาตรการห้ามไม่ให้เข้า ให้เจ้าหน้าที่สำรวจทางเข้า-ทางออกดูว่าตรงไหนปลอดภัย 

 

ปิดถ้ำหลวง 6 เดือน-เสนอแผนฟื้นฟูครั้งใหญ่ 

ด้านนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปิดถ้ำหลวงแล้ว เบื้องต้นในช่วงฤดูน้ำหลากอย่างน้อย 6 เดือน ห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปโดยเด็ดขาด พร้อมกันนี้ยังการฟื้นฟูคืนสภาพให้กลับมาเป็นปกติ โดยเจ้าหน้าที่เริ่มทยอยขนอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากถ้ำหลวงแล้ว และบางส่วนที่ยังไม่สามารถขนออกได้ เนื่องจากระดับน้ำภายในถ้ำจะกลับมาสูงในช่วงน้ำหลาก และต้องเก็บไว้และรอจนน้ำแห้งก่อน

 

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช


นายจงคล้าย กล่าวว่า ส่วนแผนฟื้นฟูและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีทั้งแผนงานเร่งด่วน และแผนระยะยาวที่อาจต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี โดยขณะนี้มีการทำแผนเสนอให้กับพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)แล้ว มีรายละเอียดเรืองวงเงินงบประมาณคร่าวๆไว้ และการทำงานต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณี กรมทรพยากรน้ำบาดาลและนักวิชาการด้านถ้ำ มาร่วมในการชี้แนะแผนถ้ำหลวง

 

สิ่งที่ทำได้ทันทีคือระบบฝายที่นำท่อต่อทางน้ำ ต้องรื้อท่อออกทั้งหมด เพื่อให้ระบบน้ำไหลกลับเข้าหลวง ส่วนโพรงที่สำรวจเป็น 100 โพรง มีแค่ 3 โพรงขนาดใหญ่ที่มีการเจาะสำรวจ หลังจากนี้ต้องอุดกลับไปสู่สภาพเดิม แต่ต้องให้กรมทรัพยากรธรณี มาช่วยดำเนินการ เพื่อให้สภาพด้านนอกของถ้ำคืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งต้องเร่งกำหนดโซนนิ่งถ้ำ และเขตบริการนอกถ้ำให้ชัดเจน กำหนดการเข้า-ออก การติดตั้งระบบตรวจวัดระดับน้ำ การเตือนภัย 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

"กรมอุทยาน" วางแผนสำรวจฟื้นฟูถ้ำหลวง เชื่อติดอันดับท่องเที่ยวยอดฮิต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง