ม.มหิดล แนะวิธีเอาตัวรอดเมื่อ "ติดถ้ำ"

สังคม
12 ก.ค. 61
07:11
3,033
Logo Thai PBS
ม.มหิดล แนะวิธีเอาตัวรอดเมื่อ "ติดถ้ำ"
เหตุการณ์ทีมหมูป่า 13 ชีวิต ประสบภัยติดถ้ำและรอดชีวิตออกมาได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับตัวทางสรีรวิทยาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นกลไกทางร่างกายเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด และสิ่งสำคัญคือการมีสติ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะวิธีการฝึกจิตใจและร่างกาย เพื่อเอาชีวิตรอดให

ปกติถ้าประมาณพลังงานของเด็กชาย น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ที่ติดอยู่ในถ้ำ จะต้องสงวนการใช้พลังงานเฉลี่ยต่ำสุด 1,300 kcal ต่อวัน แต่หากร่างกายไม่ได้พลังงานจากสารอาหารตามการปรับตัวทางสรีรวิทยา จะดึงกลูโคส หรือน้ำตาล ที่สะสมตามร่างกายมาใช้ระยะแรก จากนั้นดึงน้ำตาลในรูปไกลโคเจนจากตับมาใช้ในช่วงแรก และ 4-5 วันต่อมาจะเริ่มสลายไขมันที่สะสมตามลำตัวก่อน จากนั้น จะนำจากส่วนอื่นมาใช้ แต่หากใช้ไขมันหมด ร่างกายจะเริ่มดึงโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน

หากร่างกายได้ดื่มน้ำ แต่ขาดอาหาร นานถึง 6 วัน สมองจะล้า ร่างกายอ่อนเพลีย แต่กรณีติดเกาะติดถ้ำ หรือหลงป่า ต้องใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ด้วยการอยู่ให้นิ่ง ทำสมาธิ หรืออยู่ในภาวะจำศีล สำหรับผู้ที่เป็นนักกีฬา หรือออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายจะคุ้นเคยกับการใช้พลังงานมาก การฝึกจิตใจให้นิ่ง จะช่วยลดอัตราการใช้พลังงานได้

รศ.เทพมนัส บุปผาอินทร์ ภาควิชาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ระบบทางเดินอาหารที่ไม่ได้ถูกใช้งาน ส่งผลให้การทำงานลดลง น้ำย่อยน้อยลง จึงควรให้สารอาหารที่มีพลังงานสูง

ส่วนการฟื้นฟูร่างกายหลังขาดอาหารมานาน ควรเริ่มให้กลูโคส ควบคู่กับสารเกลือแร่ ป้องกันภาวะ refeeding syndrome หรือภาวะความไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย หากไปท่องเที่ยวทางธรรมชาติต้องศึกษาสภาพพื้นที่ แต่งกายให้รัดกุม สวมเสื้อผ้าเก็บอุณหภูมิ ระบายเหงื่อในชั้นใน กันน้ำกันลมชั้นนอก เตรียมอาหารแห้งและให้พลังงาน อาหารผ่านการฆ่าเชื้อบรรจุในกล่องหรือถุงให้มิดชิด

การเตรียมกายและใจให้พร้อมจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ หากไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ กรณีเกิดการพลัดหลง หรือภัยพิบัติ สิ่งสำคัญคือการมีจิตใจที่เข้มแข็งและมีสติ จะช่วยรับมือกับสถานการณ์ เพื่อให้อยู่รอดได้นานที่สุด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง