สุ่มตรวจ 5 พันตัวอย่าง "ผักไฮโดรโปนิกส์" สารเคมีอยู่ในมาตรฐาน

สังคม
16 ก.ค. 61
18:46
3,426
Logo Thai PBS
สุ่มตรวจ 5 พันตัวอย่าง "ผักไฮโดรโปนิกส์" สารเคมีอยู่ในมาตรฐาน
กรมวิชาการเกษตร ชี้ "ผักไฮโดรโปนิกส์"ไม่ใช่ผักออแกนิกส์ มีการปลูกโดยใช้สารเคมีจริง แต่ให้ความรู้เกษตรกรเว้นระยะเก็บเกี่ยวเพื่อลดสารตกค้าง ระบุการสุ่มตรวจ 5,000 ตัวอย่าง ไม่มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน

กรณีที่โซเชียลแชร์ข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย ว่าพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในผักไฮโดรโปนิกส์มากกว่าการปลูกโดยใช้ดิน และที่จำหน่ายในห้างค้าปลีกมีสารตกค้างเกือบร้อยละ 60

วันนี้(16 ก.ค.2561) นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ เป็นการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน อาศัยการให้ธาตุอาหารในรูปแบบสารละลาย แต่การปลูกบางพื้นที่ยังใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินสารเคมีจึงสลายตัวได้ช้า

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ให้คำแนะนำให้เกษตรกรควรเว้นระยะการใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวภายใน 3 สัปดาห์ เป็นวิธีเดียวกับการปลูกพืชในระบบ GAP เพื่อลดปริมาณสารตกค้างหรือไม่มีสารตกค้าง

 



โดยผักไฮโดรโปนิกส์และผักชนิดอื่นๆที่จำหน่ายบนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อจากเกษตรกรที่ปลูกในระบบ GAP และมีการรับซื้อผ่านพ่อคนกลาง ซึ่งสารตกค้างในพืชผักจะต้องไม่เกินมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรและองค์การอาหารและยา หรือ อย.กำหนด โดยที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ อย. สุ่มตรวจสารตกค้างอย่างเข็มงวดยังไม่พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน

ปัจจุบันได้สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในระบบ GAP แล้ว 1,698 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 2,744 ไร่ และได้สุ่มตรวจพืชผัก อาหารสดต่างๆ ทั้งตลาดสด และห้างค้าปลีก โดยได้สุ่มตรวจสารตกค้างทั้งในพืชผักและ อาหารต่างๆ ไปแล้วกว่า 5,000 ตัวอย่าง ไม่พบว่ามีสารตกค้างเกินมาตรฐาน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง