ช่วยโลมาหัวบาตรหลังเรียบเกยตื้นหาดบ้านตาหนึก

สิ่งแวดล้อม
23 ก.ค. 61
06:40
913
Logo Thai PBS
ช่วยโลมาหัวบาตรหลังเรียบเกยตื้นหาดบ้านตาหนึก
ทช.ช่วยโลมาหัวบาตรหลังเรียบเกยตื้นบริเวณชายหาดบ้านตาหนึก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด พบสภาพอ่อนแรง พร้อมพยาบาลให้กลับมาแข็งแรงและว่ายน้ำได้ก่อนนำคืนสู่ธรรมชาติ

วานนี้ (22 ก.ค.2561) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับแจ้งจากเครือข่ายช่วยชีวิต จังหวัดตราด ว่าพบโลมามีชีวิตเกยตื้นบริเวณชายหาดบ้านตาหนึก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์จึงเข้าทำการตรวจสอบ จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าเป็นลูกโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ความยาว 54 เซนติเมตร เพศไม่สามารถระบุได้ อายุไม่เกิน 1 เดือน น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม สภาพความสมบูรณ์ทางโภชนาการ แต่ค่อนข้างผอมและอ่อนแรง จนไม่สามารถว่ายน้ำและลอยน้ำเองได้ เนื่องจากสภาพอากาศมีคลื่นลมแรง

เบื้องต้น มีการให้นมไขมันสูง ทำการพยุงตัวลูกโลมาเพื่อไม่ให้จมน้ำ และมีสัตวแพทย์และทีมงานดูแลอย่างใกล้ชิด ในขณะนี้ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกได้เข้าทำการช่วยเหลือและนำไปรักษาที่สถานอนุบาลเรียบร้อยแล้ว ถ้าโลมาตัวดังกล่าวแข็งแรงและสามารถว่ายน้ำได้ดี ก็จะนำไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป


นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของสภาพทั่วไปของทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน แม้ว่าจะยังมีความสวยงาม แต่กำลังเข้าสู่สภาพวิกฤติ ส่งผลต่อสัตว์ทะเลสำคัญต่างๆ ที่พบว่าลดจำนวนลงมากและอาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต ในขณะที่สาเหตุการเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ส่วนการเกยตื้นของเต่าทะเลและพะยูน สาเหตุเกิดจากเครื่องมือประมง

ขยะ-เครื่องมือประมง ภัยร้ายสัตว์ทะเล

นอกจากนี้ยังพบว่าเต่าทะเลและโลมาเกยตื้นเกิดจากปัญหาการกลืนกินขยะ หรือการติดอวนที่ถูกทิ้งเป็นขยะทะเลเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยลักษณะการเกยตื้นในเต่าทะเล ร้อยละ 60  ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะที่พะยูนและโลมาประมาณร้อยละ 60-80 จะตายแล้ว ซึ่งสัตว์ทะเลหายากทั้งเต่าทะเล พะยูนและโลมา เป็นสัตว์ทะเลที่หายใจด้วยปอด ถ้าไม่สามารถโผล่พ้นน้ำได้ในระยะเวลาหนึ่งก็จะทำให้ตายในที่สุด


ด้าน นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กล่าวว่า โลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำ เป็นสัตว์ท่ีถูกขึ้นบัญชีใกล้สูญพันธ์ุของไซเตส และเป็นสัตว์ในบัญชีรายช่ือสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2535 มีการแพร่กระจายเป็นกลุ่มๆ ตลอดแนวชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยตอนใน มีพฤติกรรมโผล่หัวหรือครีบหลังขึ้นมาเหนือผิวน้ำในช่วงระยะเวลาสั้นๆ พบตามชายฝั่งทะเลตั้งแต่จังหวัดชลบุรีถึงจังหวัดเพชรบุรี และพบมากบริเวณปากแม่น้ำที่สำคัญในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือน ต.ค. - ก.พ.


นายภุชงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับโลมาหัวบาตรหลังเรียบมีรูปร่างคล้ายกับโลมาอิรวดีมากแต่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งมีลำตัวโดยตัวเต็มวัยยาว 1.9 เมตร ลูกแรกเกิดยาว 70-80 เซนติเมตร ไม่มีจะงอยปาก ครีบค่อนข้างใหญ่ปลายแหลม มีหลังสีน้ำเงินเทาและท้องสีขาว ครึ่งหนึ่งของประชากรจะมีตาสีแดง ปลายฟันแบนคล้ายใบพาย จำนวน 26-44 คู่ บนขากรรไกรบนและล่าง ไม่มีครีบหลัง แต่มีตุ่ม เป็นแนวสองแนวบริเวณตำแหน่งของกลางหลัง อุปนิสัยหากินบริเวณชายฝั่งในเขตน้ำตื้น หรือตามแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีทางต่อลงทะเลในเขตอินโดแปซิฟิก มีอาหารเป็นปลาขนาดเล็ก กุ้ง และหมึก มักอยู่โดดเดี่ยวหรือฝูงขนาดเล็กประมาณ 10 ตัว ในบริเวณที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ ในน่านน้ำไทยสามารถเห็นได้ทุกจังหวัดที่ติดกับทะเล โดยพบมากที่สุดในฝั่งอ่าวไทยคือทะเลแถบจังหวัดตราด และจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เหมือนกับวาฬและโลมาชนิดอื่นๆ

ทั้งนี้ การปรากฏตัวของโลมาจึงถือเป็นการยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของปากแม่น้ำสายต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่าวไทย โดยที่หลายแห่งยังคงมีป่าชายเลนที่คงความสมบรูณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งอนุบาลและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชายฝั่งที่สำคัญของประเทศไทย รวมถึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลมา ส่วนสาเหตุสำคัญที่โลมาในประเทศไทยค่อยๆ สูญพันธุ์ไปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องมือทางการประมง ที่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้สัตว์ทะเลตาย จากการว่ายเข้ามาติดและไม่สามารถออกสู่ท้องทะเลได้ ส่วนสาเหตุต่อมาคือการกินขยะที่ถูกทิ้งอยู่ในท้องทะเล ที่สำคัญสัตว์ทะเลโชคร้ายเหล่านี้มักจะตาย หรือไม่ก็พิการ จนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในท้องทะเลได้เหมือนเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง