วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ งัดกลยุทธ์ดึงเด็กจีนเรียนไทย

ไลฟ์สไตล์
24 ก.ค. 61
15:22
2,810
Logo Thai PBS
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ งัดกลยุทธ์ดึงเด็กจีนเรียนไทย

เทรนด์เพลงโลกที่เปลี่ยนไป POP, Hip Hop, EDM มาแรง จนมีงานวิจัยออกมาระบุว่าเด็กอเมริกาเล่นกีต้าร์ลดลง ประกอบกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดใหม่ลดลง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสถาบันการศึกษาของไทยจะปรับตัวทันและอยู่รอดหรือไม่ โดยเฉพาะการศึกษาเฉพาะทางอย่าง "ดนตรี" ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับผู้บริหารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงสถานการณ์และการปรับตัวของวงการการศึกษาไทย

นายณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสถิติเด็กเกิดใหม่ลดลง แต่วิทยาลัยยังไม่ได้รับผลกระทบเรื่องจำนวนเด็กมากนัก เพราะเด็กลดลงไม่เกินร้อยละ 5 แตกต่างจากมหาวิทยาลัยบางส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด โดยเฉพาะการเข้าสู่การเรียนการสอนบนโลกออนไลน์

หลายมหาวิทยาลัยถามว่าเด็กลดลงจะทำอย่างไรดี มุมมองที่ผมเห็นคือการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในประเทศเท่านั้น แต่มันคือโลก เรารอเด็กที่ยังไม่เกิดไม่ได้

"ดุริยางคศิลป์" ดึงเด็กจีนเรียน ลดผลกระทบสังคมสูงวัย

ณรงค์ ปรางค์เจริญ

ณรงค์ ปรางค์เจริญ

ณรงค์ ปรางค์เจริญ

 

คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ กล่าวถึงการปรับนโยบายรองรับสังคมผู้สูงอายุว่า วิทยาลัยเพิ่งทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยปี 2562 จะดึงนักเรียนจีนที่สนใจดนตรีเข้ามาศึกษาต่อในไทย ทุกปีๆ เด็กจีนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะเลือกเรียนดนตรีมากถึง 30,000 คน แต่วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยดนตรีในจีนรองรับเด็กได้ไม่เกิน 5,000 คน ทำให้เด็กขาดโอกาสในการเรียน ต้องรอสอบปีถัดไป หรือเลือกเรียนที่ต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ไทยต้องนำจุดเด่นด้านวัฒนธรรมดึงเด็กกลุ่มนี้เข้ามาเรียน โดยตั้งเป้าพัฒนาหลักสูตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลภายในปีนี้ เช่น หลักสูตรดนตรีไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศเพื่อนบ้านส่งเด็กมาเรียน

ผมขายเรื่องวัฒนธรรมด้วย เด็กที่เข้ามาจะได้เรียนรู้ภาษา รู้ว่าคนไทยชอบกินอะไร อยู่ยังไง เมื่อรถไฟตัดผ่านจะมีการแลกเปลี่ยนทางด้านธุรกิจมากขึ้นด้วย หากเน้นเรื่องความเข้มแข็งก็ต้องทำให้คนอื่นเห็นศักยภาพ ดนตรีไทยแม้จะเป็นเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่ในระดับวัฒนธรรมโลกเขาค่อนข้างตื่นเต้นและสนใจ เราต้องกระจายดนตรีไทยให้อยู่ในวัฒนธรรมโลก

"การศึกษาตลอดชีวิต" ความท้าทายใหม่ของไทย

ขณะที่หลายประเทศเริ่มจัดการศึกษาตลอดชีวิต อย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ เพิ่งประกาศให้ผู้ที่เข้ามาเรียนสามารถเลือกคอร์สเองได้ ตอบสนองการทำงานของแต่ละอาชีพ ซึ่งมหาวิทยาลัยในไทยน่าจะเริ่มจัดการศึกษาดังกล่าว เพื่อผลิตเด็กที่มีความหลากหลายและร่วมขับเคลื่อนสังคม นอกจากนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ร่วมกับสถาบันดนตรีชั้นนำ แลกเปลี่ยนการจัดทำหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ

สแตนฟอร์ดเขาไม่ได้จัดโมดูลเฉพาะเรียนปริญญาตรี แต่เขาจัดตลอดชีวิต คุณอยากประกอบอาชีพอะไรใน 5-10 ปี ก็ดูว่าวิชาอะไรบ้างที่ช่วยให้ประกอบอาชีพนั้นได้ดีที่สุด เลือกจัดแพคเกจเอง เรียนเอง ทำเอง ผมว่าการศึกษาไทยก็ต้องมองในเรื่องใหม่แบบนี้ เป็นก้าวใหม่ที่ต้องร่วมผลักดัน
ดริน พันธุมโกมล

ดริน พันธุมโกมล

ดริน พันธุมโกมล

ขณะที่ข้อกังวลจากหลายฝ่ายที่ระบุว่า เด็กไทยอาจเล่นกีต้าร์ลดลงตามเทรนด์เด็กอเมริกานั้น นายดริน พันธุมโกมล หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มั่นใจว่าเด็กไทยไม่ได้เล่นกีต้าร์ลดลง และยังมีความฝันสู่นักดนตรีอาชีพ

"กีต้าร์" ยังไม่เสื่อมถอย ฟื้นประกวดวงดนตรี

หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตัวเองไม่ได้รู้สึกว่าคนเล่นกีต้าร์ลดลง เพราะเด็กจำนวนมากยังสมัครเข้ามาเรียนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกีต้าร์ รวมทั้งกีต้าร์คลาสสิก อีกสัญญาณหนึ่งที่สำคัญ คือ การกลับมาของเวทีการประกวดวงดนตรี “ฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์” สะท้อนความนิยมกีต้าร์ไฟฟ้ายังไม่เสื่อมถอย และตัวเองไม่แปลกใจกับข้อมูลที่ระบุว่า เด็กอเมริกาเล่นกีต้าร์ลดลง เริ่มฝึก 10 คน เล่นต่อเนื่องแค่ 1 คน เพราะต้องวิเคราะห์คำว่า “ไปรอด” คือการเติบโตในระดับอาชีพหรือไม่ ลักษณะเดียวกับสัดส่วนเด็กที่เล่นกีฬาแล้วเข้าไปสู่สายอาชีพ

คำว่า ไปรอด ของอเมริกา คือการเติบโตในระดับอาชีพหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนี้ผมคิดว่าอาจจะเป็นไปได้ ผมไม่ได้แปลกใจกับตัวเลขนี้ เหมือนเราไปดูในสนามฟุตบอล เห็นเด็กเล่นเยอะไปหมด แต่ 1 คนในนั้นอาจหมายถึงคนที่เล่นอยู่ในไทยลีก

เด็กรุ่นใหม่ฝันทำ "วงดนตรี"

นายดริน บอกว่า เด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนจะเล่นดนตรีป๊อปปูล่า เพราะมีความฝันจะทำวงดนตรี แต่งเพลงเอง เป็นที่รู้จักในนามของวง ไม่ได้เจาะจงเป็นตัวบุคคล แตกต่างจากรูปแบบการเล่นกีต้าร์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่เป็นยุคของ “กีต้าร์ฮีโร่” เน้นโชว์ทักษะขั้นสูง โดดเด่นบนเวที

เมื่อก่อนนึกถึงกีต้าร์ฮีโร่ เล่นหรู เล่นเร็ว อย่าง Steve Vai เป็นเทพเล่นได้ทุกอย่าง แต่ตอนนี้เด็กที่เข้ามาเรียนเขาอยากทำวง ทำเพลงในค่าย แต่งเพลง ออกอัลบัม ไม่ได้ฝันจะมีชื่อของตัวเองโดดเด่นขึ้นมา เขามีไอดอลอย่าง Linkin Park แต่ถามว่ามือกีต้าร์ชื่ออะไร 50 คน อาจจะไม่รู้ เพราะวงนี้แทบจะไม่เล่นโซโล่กีต้าร์

ตั้งเป้าหมายฝึกซ้อม ลดอาการติด "มือถือ"

ส่วนข้อกังวลว่าเด็กรุ่นใหม่อาจฝึกซ้อมดนตรีลดลงเพราะติดโซเชียลฯ นั้น นายดริน ยอมรับเด็กรุ่นใหม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ค่อนข้างมาก จึงแก้ปัญหาด้วยการตั้งเป้าหมาย พบว่าเด็กส่วนใหญ่มีวินัยในการฝึกซ้อมดี และใช้สื่อออนไลน์หาข้อมูลเพิ่มเติม หรือฝึกเทคนิคใหม่ๆ ตามศิลปินที่ชื่นชอบ

อาการติดมือถือเป็นอะไรที่ช่วยยาก เด็กบางคนยอมรับว่าเวลาซ้อม ผ่านไป 5 นาทีก็ต้องหยิบมือถือมาดู ก็จะให้เป้าหมายเขาไว้ว่าเจอครั้งต่อไปคุณจะต้องทำได้ แต่โชคดีที่เด็กที่นี่มีวินัยดีไม่ค่อยเล่นเวลาซ้อมดนตรี เขาอาจจะเก่งมากขึ้น จากการเล่นโซเซียลมีเดีย ยูทูป เล่นตามไอดอลที่เขาชอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธุรกิจ “กีต้าร์” ทรงตัว คาดอีก 20 ปีคนเล่นลดฮวบตามอเมริกา 

“เทรนด์ฮิตกีตาร์ไทย หมุนตามโลก” 

”เอกชัย เจียรกุล” กว่าจะถึงแชมป์กีต้าร์คลาสสิกโลก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง