เหตุสุดวิสัยฝนตกหนัก “เซเปียนแตก” ยันเขื่อนได้มาตรฐาน

ภัยพิบัติ
26 ก.ค. 61
19:22
650
Logo Thai PBS
เหตุสุดวิสัยฝนตกหนัก “เซเปียนแตก” ยันเขื่อนได้มาตรฐาน
กระทรวงพลังงาน ระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ระบุเอกชนผู้ร่วมลงทุนได้ชี้แจงเหตุสุดวิสัยจากปริมาณน้ำฝนตกมาก ในขณะที่เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ แต่ยืนยันก่อสร้างเขื่อนตามมาตรฐาน

จากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ที่แขวงอัตตะปือ ประเทศลาว ทำให้ประชาชนชาวลาวในพื้นที่เสียชีวิตทรัพย์สินเสียหายและไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก

วันนี้(26 ก.ค.2561) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ได้รับคำชี้แจงจากบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทร่วมทุนในโครงการเขื่อนแห่งนี้ว่า สาเหตุเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมากในขณะที่เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ โดยบริษัทยืนยันว่าการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ยืนยันเขื่อนเซเปียนมีการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานสากล เหตุที่เกิดขึ้นเพราะเขื่อนอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อมีฝนตกหนัก 2-3 วัน เกินค่า จึงทำให้มีผลกระทบต่อเขื่อนเพราะเขื่อนที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและเป็นเขื่อนดินน้ำไปล้นในส่วนนั้น ส่วนจะทำให้เกิดผลกระทบ ต่อการลงทุนลาวหรือไม่นั้น อย่าเพิ่งคาดการณ์ หน้าที่หลักคือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ต้องการช่วยเหลือ

โดยหลังเกิดเหตุก็ได้เร่งช่วยเหลือ โดยเร่งอพยพผู้ประสบภัยตามมาตรการฉุกเฉินและช่วยเหลือด้านการเงินเบื้องต้น ขณะที่หน่วยงานที่อยู่ใกล้ เช่น เจ้าหน้าที่เขื่อนสิรินธร ได้จัดส่งน้ำถุงยังชีพไปมอบให้ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยเพิ่มเติมนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลลาวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณา

ระบุไม่กระทบไฟฟ้าส่งขายไทย 

ส่วนกรณีที่เครือข่ายเพื่อสังคม ระบุว่า การไปลงทุนสร้างเขื่อนของเอกชนไทยในประเทศลาว ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนชาวลาวนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะลาวมีธุรกิจโรงไฟฟ้าและเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนแนวนโยบายของรัฐบาลลาว เน้นการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า และพยายามกระจายไฟฟ้าให้ทั่วถึงทั้งประเทศ โดยชูเรื่องแบตเตอรี่เอเชียเป็นจุดขาย ทำให้หลายประเทศสนใจลงทุน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการดังกล่าวว่า ไม่มีผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าไทยเพราะไทยยังมีไฟฟ้าใช้เพียงพอในอีก 5 ปี ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากลาวนั้นไม่ได้มีการเร่งซื้อซึ่งขณะนี้มีสัญญาซื้อไฟแล้วประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ จากข้อตกลงที่จะซื้อร่วมกันตามแผนในปี 2579 ที่ 9,000 เมกะวัตต์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

อันซีน "อัตตะปือ" ดึงคนท่องเที่ยวลาวเพิ่มเม็ดเงินรายได้

ชาวลาวเล่าวินาทีหนีตาย เรือล่มลูกชายสูญหาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง