กาง EIA “เซเปียน” ไร้แผนประเมินความเสี่ยงฉุกเฉินเขื่อนแตก

สิ่งแวดล้อม
27 ก.ค. 61
13:40
2,964
Logo Thai PBS
กาง EIA “เซเปียน” ไร้แผนประเมินความเสี่ยงฉุกเฉินเขื่อนแตก
นักวิชาการไทย ชำแหละรายงาน EIA เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย อาจไม่มีการประเมินความเสี่ยงเขื่อนวิบัติ และแผนรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่เหมาะสม ทำให้การแจ้งเตื่อนชาวบ้านล่าช้าทั้งที่พบรอยแตกของสันเขื่อนตั้งแต่ 20 ก.ค.

วันนี้(27 ก.ค.2561) นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua กรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมาและทำให้น้ำไหลท่วมชุมชนในแขวงอัตตะปือเสียหายจำนวนมาก โดยระบุว่า EIA ถือว่ามีความสำคัญมากๆ เพราะจะบอกเราได้ว่าทำไมภัยพิบัติจากเขื่อนวิบัติครั้งนี้ จึงมีความรุนแรงมาก ทั้งที่โครงการนี้ ถือว่าเป็นโครงการด้านวิศวกรรมที่ท้าทายในภูมิภาคนี้ และมีมูลค่าถึงสามหมื่นกว่าล้านบาท ที่ต้องมีการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment : RA) และแผนรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Emergency Response Plan)

แต่ในขณะนี้ไม่สามารถหารายงานฉบับสมบูรณ์ที่ทำโดยบริษัททีม ของไทยได้ มีเพียงรายงานฉบับเพิ่มเติมที่จัดทำโดยบริษัท Lao Consulting Group เท่านั้น แต่ก็พอจะให้ภาพเพื่อตอบคำถามดังกล่าวข้างต้นได้ในระดับหนึ่ง

ภาพ :ABC Laos News

ภาพ :ABC Laos News

ภาพ :ABC Laos News


EIA ขาดแผนรับมือเขื่อนในภาวะฉุกเฉิน


เมื่อได้เข้าไปอ่าน EIA ฉบับดังกล่าว ก็พบหัวข้อที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในบทที่ 6 เรื่อง Environmental Mitigation Measures หน้า 6-14 กับ 6-15 โดยอยู่ในหัวข้ออุบัติเหตุและภัยธรมชาติ และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงคือ ไฟไหม้และการระเบิด การรั่วไหลของวัถตุอันตรายและน้ำมัน ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว และอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติทั่วไป

สำหรับหัวข้อที่น่าสนใจที่สุดก็คือหัวข้อสุดท้าย ซึ่งได้แบ่งย่อยออกเป็นสองประเด็นคือ น้ำท่วม (flood) และกับระเบิดที่ยังไม่ได้ระเบิด (UXO) โดยที่หัวข้อน้ำท่วม EIA ได้เสนอมาตรการในการลดผลกระทบคือให้มีการติดตามสภาวะอุทกวิทยาและภูมิอากาศ ซึ่งจำเป็นสำหรับทำให้การลดผลกระทบ และการจัดการมีประสิทธิภาพสำหรับน้ำไหลสูงสุดและเหตุ การณ์น้ำท่วมในแต่ละวัน การติดตามตัวชี้วัดต่างๆ รวมถึงปริมาณน้ำฝน อัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำ ระดับน้ำ และการสังเกตด้วยสายตา เช่น สังเกตพืชน้ำ พรรณพืช การเกิดขึ้นและลักษณะสัณฐานของตะกอน

 

ภาพ :ABC Laos News

ภาพ :ABC Laos News

ภาพ :ABC Laos News

 

สำหรับมาตรการในการลดผลกระทบ EIA ระบุว่าให้พัฒนาแผนรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายไชยณรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า 1) โครงการนี้ไม่มีการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) จากเขื่อนวิบัติ เช่น น้ำล้นจากทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินของเขื่อน (spill way) น้ำล้นสันเขื่อน หรือที่เลวร้ายที่สุดคือเขื่อนวิบัติ

2) หากตัดประเด็นที่ว่าเขื่อนพังเพราะอะไรออกไปก่อน มีคำถามว่าทางบริษัทเจ้าของเขื่อนได้จัดทำแผนรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และแผนดังกล่าวบริษัทได้นำมาปฏิบัติหรือไม่ และได้นำไปให้หน่วยงานราชการและชุมชนท้ายเขื่อนหรือไม่

เพราะไม่สามารถหาแผนดังกล่าวได้ แต่การประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเขื่อนแตก ก็น่าจะไม่มีแผนดังกล่าว จึงทำให้เกิดการแจ้งเตือนภัยและให้อพยพที่ล่าช้ามากและกระชั้นชิดมาก อีกทั้งบริษัทน่าจะรู้แล้วว่าตัวเขื่อนที่วิบัติมีปัญหาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 22 ก.ค.

ขณะที่สื่อต่างประเทศบางสำนักตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทน่าะรู้ว่าเขื่อนมีรอยแยกตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. แล้ว ขณะที่การแจ้งให้ทางการลาวอพยพประชาชนท้ายเขื่อนในลุ่มน้ำเซเปียนเกิดขึ้นในวันที่ 23 ก.ค.ก่อนเขื่อนแตกไม่กี่ชั่วโมง

 

ภาพ :ABC Laos News

ภาพ :ABC Laos News

ภาพ :ABC Laos News

 

นอกจากนั้น เมื่อเขื่อนแตก ยังได้เกิดการอพยพหนีตายของประชาชนแบบโกลาหล ประชาชนหนีเอาตัวรอดแบบไร้ทิศทาง บางคนถูกน้ำพัดพาเสียชีวิต ซึ่งตัวเลขล่าสุดคือ 26 คน มีคนสูญหาย 131 คน ประชาชนจำนวนมากหนีขึ้นไปอยู่บนหลังคาทั้งบ้านและวัด บางคนต้องเกาะต้นไม้เพื่อเอาชีวิตรอด หรือติดเกาะหลายวัน ขณะที่พื้นที่รองรับอพยพก็ไม่มีความพร้อม หลายกลุ่มต้องไปตั้งเพิงพักชั่วคราวในป่า ขณะที่ในพื้นที่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบยังครอบคลุมไปยังหลายหมู่บ้านในกัมพูชาด้วย ซึ่งสถานการณ์การอพยพก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่ความเสียหายน้อยกว่า และทางการกัมพูชาก็มีเวลาในการช่วยเหลือประชาชนมากกว่า

 

ภาพ :ABC Laos News

ภาพ :ABC Laos News

ภาพ :ABC Laos News

กล่าวโดยสรุป เห็นว่า EIA ฉบับเพิ่มเติมให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ระดับหนึ่งว่า โครงการนี้อาจไม่ได้มีการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม ไม่ครอบคลุมประเด็นเขื่อนวิบัติ และไม่น่าจะมีแผนลดความเสี่ยงภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction-DRR) ในกรณีเขื่อนวิบัติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเขื่อน หน่วยงานต่างๆ และชุมชนที่ตั้งอยู่ท้ายเขื่อน นำไปปฏิบัติ หรือหากมีก็ไม่ได้นำมาปฏิบัติ ทำให้เกิดรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยพิบัติอย่างที่เห็น

ดังนั้น ไม่ว่าเขื่อนจะแตกเพราะโครงสร้างทางวิศวกรรรมซึ่งแนวโน้มจะเป็นสาเหตุนี้มากที่สุด หรือจากฝนตกหนักอย่างที่ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยและเกาหลีได้ระบุ บริษัทเจ้าของเขื่อนก็ไม่อาจหนีความรับผิดชอบไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง