เปิดภาพ “จันทรุปราคาเต็มดวง” 1.43 ชั่วโมง นานที่สุดในศตวรรษที่ 21

Logo Thai PBS
เปิดภาพ “จันทรุปราคาเต็มดวง” 1.43 ชั่วโมง นานที่สุดในศตวรรษที่ 21
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดภาพ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ซึ่งปรากฎยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 นานถึง 1 ชม. 43 นาที คาดวันที่ 31 ก.ค.นี้ ดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี สามารถมองเห็นได้ชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

วันนี้ (28 ก.ค.61) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพดาวอังคารสุกสว่างสีแดงเคียงดวงจันทร์สีแดงอิฐ เหนือท้องฟ้าเมืองสงขลา บันทึกในช่วงเช้ามืดวันนี้ เวลา 03:21 น. ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงช่วงกึ่งกลางคราส และยังตรงกับช่วงดวงจันทร์เต็มดวงโคจรไกลโลกที่สุดในรอบปีอีกด้วย เป็น 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งสวยงามหาชมได้ยาก บันทึก ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา

 

 

ในคืนวันที่ 27 ก.ค.61 ถึงรุ่งเช้า 28 ก.ค.61 เกิด 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดปรากฏใหญ่และสว่างมาก สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงรุ่งเช้า ในคืนเดียวกันยังเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 คราสเต็มดวงเริ่มตั้งแต่เวลา 02.30-04.13 น. นานถึง 1 ชม. 43 นาที นอกจากนี้เป็นไมโครมูน เนื่องจากช่วงเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ในระยะไกลโลกที่สุดในรอบปีอีกด้วย

 

 

ภาพดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ คืนวันที่ 27 ก.ค.61 บันทึกเมื่อเวลา 22.27 น. โดยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา ดาวอังคารโคจรห่างจากโลกประมาณ 57.8 ล้านกิโลเมตร สามารถมองเห็นขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารและพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างชัดเจน

 

 

ทั้งนี้ ดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี ในวันที่ 31 ก.ค.61 ระยะห่างประมาณ 57.6 ล้านกิโลเมตร ช่วงนี้จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ดาวอังคาร ที่สว่างและมีขนาดปรากฏใหญ่มาก มองเห็นได้อย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงรุ่งเช้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง