รู้จัก "วงแหวนไฟ" ต้นเหตุแผ่นดินไหวอินโดนีเซีย

ภัยพิบัติ
31 ก.ค. 61
11:59
39,733
Logo Thai PBS
รู้จัก "วงแหวนไฟ" ต้นเหตุแผ่นดินไหวอินโดนีเซีย

จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ลึกลงไป 7 กิโลเมตร บนเกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย จนทำให้นักท่องเที่ยวติดอยู่บนเขารินจานีหลายร้อยคน ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ ถึงสาเหตุการเกิดภัยพิบัติครั้งนี้

แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายหรือไม่

แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นเรื่องไม่เหนือความคาดหมาย หากมองตามแนววงแหวนไฟที่พาดผ่านลอมบอก เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวนั้นจะเกิดบริเวณวงแหวนไฟอยู่แล้ว  เมื่อเกิดแผ่นดินไหว แรงดันของแมกม่าจะไปดันรอยต่อต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้น แรงสั่นสะเทือนก็ทำให้เกิดการสไลด์ของหินและดินบนภูเขา เนื่องจากความแข็งแรงในดินหลวม ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยภูเขาไฟทำให้เกิดแผ่นดินไหว ในขณะเดียวกันแผ่นดินไหวอาจจะเกิดพร้อมกับภูเขาไฟลูกใหม่ก็ได้ เพราะปะทุอยู่แล้ว ก็อาจเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเรื่อยๆ เป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมา

 

Ring of fire หรือ วงแหวนไฟ คืออะไร

วงแหวนไฟ คือ จุดที่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ชนกันอยู่ ซึ่งจะเกิดแผ่นดินไหว มีภูเขาไฟอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ดังนั้นความเสี่ยงของประเทศที่อยู่บริเวณแนววงแหวนไฟที่จะเกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟปะทุเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับประเทศไทยถือว่าอยู่ห่าง ดังนั้นแผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจึงไม่มีแผนเตรียมพร้อมภูเขาไฟ ส่วนสึนามิที่ไทยได้รับผลกระทบเมื่อปี 2547 มีผลจากวงแหวนไฟ เนื่องจากจุดกำเนิดอยู่ใกล้บริเวณแนวรอยเลื่อนที่พาดผ่านไปทางเมียนมา ขณะที่สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 ก็มีจุดกำเนิดที่วงแหวนไฟ

ผลกระทบแผ่นดินไหวในเมืองใหญ่

ถ้าเกิดขึ้นที่เมืองใหญ่ ประชากรหนาแน่น มีอาคารบ้านเรือนจำนวนมาก ความเสียหายจะเกิดอย่างมหาศาล อย่างกรณีที่ประเทศอิหร่านเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เสียชีวิตถึง 30,000 คน จากแผ่นดินไหวขนาดใกล้เคียงกันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวบนบกที่รุนแรงและตื้นมาก แต่ในกรณีของลอมบอกนั้น เป็นบริเวณภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่ จึงเป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่มีประชาชนอยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบจึงไม่ได้รับความเสียหายในส่วนนี้ 

ความกังวลเรื่องภูเขาไฟในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จำนวนภูเขาไฟมีประมาณ 750 ลูก ในบริเวณพื้นที่ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนภูเขาไฟที่ยังมีพลังและเชื่อว่าในรอบ 100 ปี ยังมีการระเบิดอยู่มีประมาณ 70 ลูก สิ่งนี้ทำให้ต้องจับตามองเป็นพิเศษ สำหรับภูเขาไฟรินจานีที่ลอมบอกนี้ มีดัชนีความรุนแรงแผ่นดินไหวอยู่ที่ระดับ 3 คือ ไม่เกิน 10 ปี จะเกิดขึ้น 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วภูเขาไฟลูกนี้เคยระเบิดแล้วครั้งหนึ่ง


ทำอย่างไร เมื่อเกิดแผ่นดินไหว-ภูเขาไฟปะทุ

เมื่อแผ่นดินไหว นักท่องเที่ยวต้องหลบเข้าไปในอาคารที่ปลอดภัย เนื่องจากควัน ฝุ่นเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก ต้องสวมหน้ากากอนามัย โดยอาคารห้ามอยู่ในที่ต่ำเพราะลาวาจะไหลไปในที่ต่ำ จึงต้องอยู่ในที่ๆ โคลนหรือลาวาไหลไปไม่ถึง แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอาคารนักท่องเที่ยวจะต้องอพยพไปยังจุดที่คาดว่าปลอดภัย

ความเสี่ยงของไทยกับภัยพิบัติในอนาคต

ข้อมูลในประเทศไทยบ่งชี้ว่าในฤดูฝน ฝนจะหนักมากขึ้นร้อยละ 30 สิ่งใดที่ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานไว้ไม่เพียงพอ เช่น ท่อระบายน้ำใน กทม.ก็จำเป็นต้องปรับปรุง เขื่อนออกแบบไว้สำหรับรับน้ำได้ขนาดนี้ ต้องเพิ่มไปอีก 1.3 เท่า ภัยพิบัติเหล่านี้ เกิดจากสภาพอากาศ หรือ climate change ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ที่ฝนตกหนัก ถึงวันละ 300 มิลลิเมตร เนื่องจากแนวปะทะอากาศเคลื่อนขึ้นมาบริเวณนั้นพอดี

ในอนาคตข้างหน้าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจเราว่าภัยเป็นของทั่วโลก แต่ในอดีต ร้อยละ 40 ภัยเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย มีคนเสียชีวิตมากที่สุดในทวีปเอเชีย ถึงร้อยละ 50 ระยะหลังเอเชียเติบโตมากขึ้น คนย้ายไปอยู่ในพื้นที่มีผลกระทบมากขึ้น อนาคตเรารู้ว่าภัยมาถึงตัว คงต้องกลับมาดูตัวเองว่าเราพร้อมจะรับมือกับมันหรือยัง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง