น้ำโขงท่วมตลาดอินโดจีน สกลนครเร่งระบาย-ป้องกันเขตเศรษฐกิจ

ภัยพิบัติ
31 ก.ค. 61
11:15
648
Logo Thai PBS
น้ำโขงท่วมตลาดอินโดจีน สกลนครเร่งระบาย-ป้องกันเขตเศรษฐกิจ
พื้นที่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขงในหลายจังหวัดภาคอีสาน ยังคงได้รับผลกระทบจากระดับน้ำโขงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ จ.สกลนคร ประกาศให้พื้นที่ 7 อำเภอ เป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว ส่วน จ.มุกดาหาร น้ำได้เอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมชั้นใต้ดินของตลาดอินโดจีน

วันนี้ (31 ก.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครสกลนคร ซึ่งเป็นน้ำที่ถูกบำบัดแล้ว ถูกระบายออกมาโดยเครื่องสูบน้ำ ลงสู่แหล่งเก็บน้ำหนองหาร เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่เศรษฐกิจในตัวเมืองเทศบาลนครสกลนครถูกน้ำไหลท่วมอีก เพราะปีที่แล้ว พื้นที่ใจกลางเมืองถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 3 เมตร

ขณะที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.สกลนคร เตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการป้องกัน และการช่วยเหลือพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมไปแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายน้ำที่ต้องรองรับน้ำจากหนองหาร ได่แก่ ตามแนวลำน้ำก่ำ ซึ่งจะมีผลต่อบ้านเรือนและพื้นที่แปลงนาข้าวใน อ.โพนนาแก้ว และ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

สำหรับการระบายน้ำออกจากหนองหารขณะนี้ ทาง ปภ.ได้นำเรือกำจัดผักตบชวามาติดตั้ง เพื่อเตรียมกำจัดผักตบชวา ซึ่งเป็นอุปสรรคการระบายน้ำไหลออกได้ช้า และจากการสังเกตของทีมข่าวพบว่าปริมาณผักตบชวา หรือเศษสวะต่างๆ ได้ลอยอยู่ในหนองหารเป็นระยะ

ส่วนการแจ้งเตือนระดับน้ำที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ซึ่งวัดปริมาณน้ำที่หนองหาร ยังติดธงสีเหลือง แจ้งระดับสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ซึ่งนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า วันนี้ จะปรับเพิ่มรูปแบบการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมจุดนี้ แบ่งเป็นธง 5 สี ได้แก่ เขียว น้ำเงิน เหลือง ส้ม และสีแดง ตามสถานการณ์ความวิกฤตจากเบาไปหนัก

ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วม จ.สกลนคร ขณะนี้ ประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว 7 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง คำตากล้า เจริญศิลป์ พรรณานิคม สว่างแดนดิน พังโคน และโพนนาแก้ว รวมกว่า 2,000 ครัวเรือน กว่า 5,600 คน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมกว่า 13,000 ไร่

ขณะที่ระดับน้ำโขงใน จ.หนองคาย ที่ขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ 10.55 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ ถึง 93 เซนติเมตร ส่งผลกระทบต่อปลาที่เลี้ยงในกระชัง โดยเฉพาะที่บ้านพร้าวใต้ และบ้านเจริญสุข ต.หินโงม ที่มีเกษตรกรเลี้ยงปลาประมาณ 80 คน กระชังปลารวมกว่า 2,000 กระชัง

ส่วนที่ จ.บึงกาฬ เจ้าหน้าที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง ออกลาดตระเวนทางน้ำ เพื่อแจ้งเตือนเรือโดยสารข้ามฟาก ระหว่างบึงกาฬ-เมืองปากซัน ประเทศลาว ให้ใช้ความระมัดระวังในการให้บริการ หลังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดวัดได้ 11.70 เมตร เหลืออีกเพียง 20 เซนติเมตร ก็จะถึงระดับแจ้งเตือน

ส่วน จ.มุกดาหาร เจ้าหน้าที่โยธาธิการเข้าซ่อมตลิ่ง บริเวณวัดศรีมงคลเหนือ เขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ป้องกันตลิ่งทรุด หลังระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดวัดได้ 12.54 เมตร เพิ่มจากเมื่อวานนี้ ประมาณ 13 เซนติเมตร ขณะเดียวกัน น้ำจากลำน้ำโขงได้เอ่อล้นเข้าท่วมชั้นใต้ดินของตลาดอินโดจีน ผู้ประกอบการต้องเร่งขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูง

ทหารและชาวบ้านในเทศบาล ต.บ้านด่านโขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ต่างขนย้ายสิ่งไว้บนที่สูง และย้ายเข้าอาศัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว หลังจากแม่น้ำมูล ไม่สามารถระบายน้ำลงแม่น้ำโขงได้สะดวก เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงหนุนสูง และห่างจากตลิ่งไม่ถึง 50 เซนติเมตร

ขณะที่พื้นที่ 4 อำเภอใน จ.นครพนม ที่อยู่ติดลำน้ำก่ำ ยังคงถูกน้ำท่วมขัง เนื่องจากหนองหารใน จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำก่ำ ได้มีการระบายน้ำลงมาในพื้นที่วันละกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำโขงที่ยังคงหนุนสูง ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า

ถนนทางเข้าบ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ยังถูกน้ำจากลำน้ำก่ำเอ่อเข้าท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ชาวบ้านต้องใช้เส้นทางเข้าออกเพียงทางเดียว คือเส้นทางบ้านปากบัง-อ.เรณูนคร หลังน้ำก่ำเอ่อเข้าท่วม เมื่อ 2 วันก่อน น้ำที่ท่วมขังในหมู่บ้านยังสูง 30 เซนติเมตร และเริ่มทรงตัว ชาวบ้านได้รับผลกระทบกว่า 200 หลังคาเรือน ขณะที่พื้นที่การเกษตรเกือบ 4,000 ไร่ ถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด

โรงเรียนบ้านปากบัง สั่งปิดเรียนไปจนถึงวันที่ 3 สิงหาคมนี้ เพื่อความปลอดภัย ขณะที่ผู้นำชุมชนแจ้งเตือนชาวบ้านเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายในชุมชน เพื่อเตรียมรับมือและอพยพ หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับชุมชนปากบัง ซึ่งเป็นที่ลุ่มและทางน้ำไหลผ่าน ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านจึงเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ และหลังน้ำจากลำน้ำก่ำเริ่มเอ่อล้นตลิ่ง เมื่อ 2 วันก่อน ชาวบ้านจึงเริ่มย้ายสัตว์เลี้ยงมาพักไว้บนรถไถนาที่ปรับเป็นคอกเลี้ยงสัตว์เคลื่อนที่ เตรียมพร้อมอพยพขึ้นที่สูง

ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม่บ้านแต่ละครอบครัวของบ้านปากบัง เริ่มเตรียมอาหารแห้ง โดยเฉพาะปลาย่างรมควัน และปลาแห้ง เพื่อเก็บไว้ปรุงอาหารในช่วงที่น้ำท่วมสูง และเตรียมย้ายข้าวของไปอาศัยที่วัด ซึ่งเตรียมจัดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว ทันทีที่น้ำท่วมตัวบ้านสูงเกินระดับ 50 เซนติเมตร ส่วนผู้นำชุมชนจะติดตามแผนระบายน้ำจากเจ้าหน้าที่ เพื่อแจ้งเตือนชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

สำหรับบ้านปากบังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นจุดรับน้ำที่น้ำจากลำน้ำบังมาบรรจบกับลำน้ำก่ำ จึงประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ที่ผ่านมา ภาครัฐเคยเสนอให้ย้ายจุดที่ตั้งบ้านเรือนไปอยู่ที่สูง แต่ชาวบ้านยืนยันจะอาศัยในหมู่บ้านตามเดิม และพร้อมปรับตัวรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

ขณะที่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ระบุว่าสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.นครพนม น้ำจะค่อยๆ เอ่อเข้าในชุมชนที่ลุ่มต่ำติดลำน้ำก่ำ เนื่องจากยังมีน้ำจาก จ.สกลนคร ไหลลงมาสมทบ ประกอบกับน้ำโขงหนุนสูง ทำให้น้ำระบายได้ช้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง