6 เขื่อนใหญ่น้ำเกินเกณฑ์ กรมชลฯ ชี้ยังเอาอยู่

ภัยพิบัติ
3 ส.ค. 61
16:10
6,613
Logo Thai PBS
6 เขื่อนใหญ่น้ำเกินเกณฑ์ กรมชลฯ ชี้ยังเอาอยู่

ฝนตกต่อเนื่องหลายวันในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้น้ำในเขื่อนหลายแห่งมีปริมาณเกินเกณฑ์ควบคุม ทำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สั่งปรับแผนการระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อรับมือฝนตกระลอกใหม่ในช่วงสัปดาห์หน้า

“ไทยพีบีเอส” ตรวจสอบข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า 6 เขื่อน ที่มีปริมาณน้ำสูงเกินเกณฑ์ควบคุม ประกอบด้วย เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนน้ำพุง

 

 

ทำไมเขื่อนต้องระบายน้ำ ?

การระบายน้ำเพิ่มผ่านประตูระบายน้ำล้น (Spillway) ในกรณีปริมาณน้ำใกล้เต็มความจุของอ่างเก็บน้ำและมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เพื่อควบคุมไม่ให้ระดับเก็บกักน้ำเกินความจุของอ่าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนและอาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และสภาพท้ายน้ำอย่างใกล้ชิด

ระดับการกักเก็บน้ำของเขื่อน ?

การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนใหอยู่ในกรอบของ “เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ” (Rule Curve) ซึ่งมีอยู่ 2 เกณฑ์

ระดับควบคุมน้ำตัวบน (Upper Rule Curve) คือ ระดับควบคุมน้ำตัวบน (Upper Rule Curve) คือ ระดับน้ำตอนบนที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานของอ่างเก็บน้ำในแต่ละเดือน จำเป็นต้องรักษาระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ให้สูงเกินกว่าระดับควบคุมตอนบน ทั้งนี้เพื่อสำรองปริมาณน้ำที่อยู่ระหว่างระดับน้ำควบคุมตอนบนกับระดับน้ำเก็บกักสูงสุดไว้ป้องกันน้ำท่วม

ระดับควบคุมน้ำตัวล่าง (Lower Rule Curve) คือ ระดับน้ำควบคุมต่ำสุดในอ่างเก็บน้ำของแต่ละเดือนที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานไม่ให้มีระดับต่ำกว่าระดับควบคุมตอนล่าง ทั้งนี้เพื่อสำรองปริมาณน้ำที่อยู่ระหว่างระดับน้ำควบคุมตอนล่างกับระดับน้ำเก็บกักต่ำสุดไว้สำหรับการเพาะปลูก ในช่วงฤดูแล้งที่มีการขาดแคลนน้ำ

 

 

ขณะที่ในสภาวการณ์ปกติเขื่อนจะควบคุมไม่ให้ระดับน้ำต่ำกว่า เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่างในช่วงฤดูแล้ง และช่วงฤดูฝน เขื่อนก็จะพยายามระบายน้ำเพื่อไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน

ดังนั้นเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำเปรียบเสมือนเกณฑ์ที่คอยควบคุมระดับน้ำในเขื่อนให้มีปริมาณน้ำเก็บกักที่เหมาะสมตามสภาวการณ์ของปริมาณน้ำทั้งเหนือเขื่อนและสภาพน้ำในลุ่มน้ำท้ายเขื่อน เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดทั้งปี

 

 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบายว่า “น้ำล้น” คือระดับน้ำสูงถึงระดับเก็บกักปกติ หรือ เรียกว่า 100% ของความจุ จึงจะมีน้ำล้นที่ “ทางระบายน้ำล้น” (Spillway) ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนน้ำอูน มีน้ำ 100% ของความจุ จึงมีน้ำล้นที่ทางระบายน้ำล้น จึงจำเป็นต้องเสริมเครื่องมือระบายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น เป็นต้น

เขื่อนขนาดใหญ่จะควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในระดับควบคุม ซึ่งค่าจะเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำในเขื่อนสูงเกินไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปรับแผนระบายน้ำ 3 เขื่อนใหญ่รับฝนก่อน 5 ส.ค.นี้

น้ำโขงขึ้นสูงสุดรอบ 20 ปี "ธาตุพนม" เผชิญน้ำท่วมสะสม

ตรวจสอบเส้นทางระบายน้ำ “เขื่อนน้ำอูน”

เช็กเส้นทาง “เสี่ยง” ระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง