นักวิชาการ ชี้ ไทยตรวจเขื่อนเข้ม ยากเขื่อนแตก

ภัยพิบัติ
4 ส.ค. 61
17:21
2,651
Logo Thai PBS
นักวิชาการ ชี้ ไทยตรวจเขื่อนเข้ม ยากเขื่อนแตก
นักวิชาการสาขาวิศกรรมทรัพยากรน้ำ ยืนยัน เขื่อนหลักของประเทศไทย ยังมีความแข็งแรง ส่วนสาเหตุที่ปีนี้ปริมาณน้ำมากบางแห่ง เพราะสภาพอากาศเปลี่ยน และฝนตกแช่ในภาคอีสาน และตะวันตก ทำให้มีน้ำไหลลลงเขื่อนมากขึ้น

ฝนที่ตกลงอย่างมาอย่างหนักในพื้นที่ภาคอีสานและภาคตะวันตก ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นจนต้องเร่งระบาย ส่งผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนได้รับความเสียหาย และสร้างความกังวลให้กับประชาชนถึงสถานการณ์น้ำที่เป็นอยู่ 

ทีมข่าวไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ ศ.สุวัฒนา จิตตลดากร และผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ฝนตกแช่ เหตุน้ำมากภาคตะวันตก-อีสาน

ศ.สุวัฒนา วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่น้ำมากในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคอีสาน เพราะสภาพอากาศเปลี่ยน มีฝนตกแช่ในพื้นที่ดังกล่าว ต่างจากอดีตที่มักจะมีฝนกระจาย แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะบอกว่าค่าฝนรวมเฉลี่ยนน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่เมื่อแยกดูรายภาคจะเห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำมากกว่า

และปีนี้พายุลูกแรกมาเร็ว คือ เซินติญ ที่เข้าก่อนพายุในฤดูมรสุม ซึ่งปกติกจะเข้ามาเดือน ก.ย.-ต.ค.ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นจึงต้องเร่งระบายน้ำออกเขื่อนและลำน้ำ เพื่อรอรับฝนใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่ม

ศ.สุวัฒนา จิตตลดากร

ศ.สุวัฒนา จิตตลดากร

ศ.สุวัฒนา จิตตลดากร

 

ด้าน ผศ.สิตางศุ์ กล่าวว่า ฝนที่ตกมาก ทำให้น้ำในเขื่อนขนาดกลางเกินความจุ 100% หลายแห่ง โดยเฉพาะภาคอีสาน เขื่อนขนาดกลางมีน้ำเกินความจุ กว่า 44 แห่ง ซึ่งกังวลว่าการจัดการน้ำจะมีปัญหา เพราะเพิ่งเข้าเดือน ส.ค. แต่น้ำเกินความจุแล้ว และยังมีมรสุมที่จะเข้าตามฤดูกาลอีก

ขณะที่การเร่งระบายน้ำ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นต้องพัฒนาระบบการแจ้งเตือนให้ชาวบ้านมีเวลาเตรียมตัวด้วย 

เตือนท้ายน้ำว่าจะระบายน้ำ มีคำถามว่าทำไม ไม่เตือนก่อน 48 ชม. ให้ชาวบ้านเตรียมตัว คือบอกจะปล่อยก็ปล่อยเลย ชาวบ้านถือว่าเป็นความบกพร่อง

ผศ.สิตางศุ์ ยกตัวอย่างการแจ้งเตือนของญี่ปุ่นเป็นระบบที่ดี เพราะมีการแจ้งเตือนเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ให้การติดตามเฝ้าระวัง กระทั่งการอพยพที่เริ่มจากกลุ่มเด็ก-คนแก่ ไม่ใช่การอพยพในครั้งเดียวพร้อมกัน เพราะจะทำให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งสามารถลดความเสียหายจากภัยพิบัติได้จริง

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

 

เทียบบทเรียนปี2554 เชื่อไม่หนักเท่า

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ปี2554 ปัจจัยต่างกัน เพราะปี2554 เป็นปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะที่ปัจจุบันคือการรับมือฝนตกแช่ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคตะวันตก

โดย ศ. สุวัฒนา กล่าวว่า ปี2554 คือปัญหาเรื่องการจัดการน้ำที่ไม่มีความชัดเจน “ใครสั่งน้ำไปตรงไหนก็ได้” เหมือนมีคนถือกุญแจ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ เพราะมี สทนช. ควบคุม ส่วนกรมชลฯ มีบทเรียนที่จะบริหารไม่ให้ซ้ำรอยปี2554 แล้ว ดังนั้นจึงแม้จะมีฝนมาก แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายเท่าอดีต

แม้เครื่องมือที่ใช้จะไม่พัฒนาขึ้น แต่การบริหารจัดการดีขึ้น โดยเฉพาะซอฟท์โซลูชั่น เช่น การใช้ทุ่งรับน้ำ ไม่ใช่การบังคับน้ำไปทางเดียวเหมือนปี2554

สอดคล้องกับ ผศ.สิตางศุ์ เห็นว่า หากมีน้ำมากเหมือน ปี2554 จะไม่มีความเสียหายมาก เพราะมีแผนที่ชัดเจนและมีพื้นที่รองรับน้ำอยู่แล้ว

ถามว่าน้ำท่วมไหม คงท่วม แต่ถามว่าท่วมในที่ที่เตรียมไว้หรือเปล่า ถ้าท่วมในนั้นถือว่าควบคุมได้ ส่วนความเสียหายที่ตามมาคือต้องชดเชย

ผศ.สิตางศุ์ สรุปว่าปัจจัยที่จะมีน้ำท่วมหรือไม่ ขึ้นอยู่ปริมาณน้ำฝน เมื่อฝนตกมากย่อมมีโอกาสท่วมสูง แต่หากมีพื้นที่รองรับน้ำจะไม่มีปัญหา เท่ากับป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่อื่นได้ ส่วนกรณีที่พื้นที่รับน้ำน้อยลง ย่อมส่งผลต่อพื้นที่อื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นการจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำนั่นเอง

ข้อจำกัดเขื่อนไทย ออกแบบเพื่อใช้ในการเกษตร

ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้เขื่อนไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะเดิมถูกออกแบบมาใช้เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร

ศ.สุวัฒนา กล่าวว่า เขื่อนส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเก็บน้ำในฤดูฝน แต่เมื่อมีฝนตกแช่ น้ำเต็มความจุ 100% เร็ว น้ำระบายออกทางสปิลเวย์และท่อส่งน้ำขนาดเล็กใต้เขื่อนได้น้อย ทำให้การระบายน้ำไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน 

ระบายน้ำต้องใช้มาตรการอื่นเสริม  เหมือนเขื่อนน้ำอูนที่ใช้ไซฟ่อน กาลักน้ำ และเครื่องปั๊ม เร่งระบายน้ำออกสู่น้ำโขง ขณะที่บางประเทศออกแบบเขื่อนเพื่อชะลอน้ำ จึงมีประสิทธิภาพกว่า" 

อย่างไรก็ตามการแก้ไขระยะยาวคงไม่ใช่การรื้อสร้างใหม่ แต่ต้องเพิ่มเครื่องมือ คือ 1.ฮาร์ดโซลูชัน เช่น ปรับปรุงอาคารเขื่อน –เพิ่มประตูระบายน้ำ  และ 2.เพิ่มซอฟท์โซลูชัน เช่น เพิ่มพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำได้ก่อน และเห็นผลแล้วในพื้นที่ภาคกลาง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ทำความเข้าใจ “คำ” ในเขื่อน

ข้อมูลจากสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่ออธิบายโครงสร้างพื้นฐานของเขื่อน โดยมีระดับสำคัญ 5 ระดับ เช่น ระดับเก็บกักปกติ เป็นระดับที่เรียกว่า น้ำเต็ม 100% ของความจุ ซึ่งไม่ได้หมาย ความว่าน้ำเต็มสันเขื่อน แต่เมื่อน้ำสูงถึงระดับนี้ น้ำจะล้นออกทางสปิลเวย์ ขณะที่เขื่อนใหญ่มักจะควบคุมน้ำไม่ให้เกินระดับควบคุมตอนบน หรือ Upper Rule Curve

 

ส่วนคำว่า “โค้งของกฎการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ” ( reservoir operation rule curve) คือการวิเคราะห์ข้อมูลทางอุทกวิทยาในอดีตร่วมกับความต้องการน้ำ โดยมีหลักการ คือ ช่วงฤดูฝนจะพร่องน้ำเท่าใดเพื่อไม่ให้น้ำกระทบกับประชาชนท้ายเขื่อน แต่ต้องรักษาน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้งด้วย

ซึ่งมี 2 ระดับ คือ 1.ระดับน้ำควบคุมตอนบน หรือ “Upper Rule Curve” (URC) รักษาระดับน้ำไม่ให้สูงเกินไปจนเสี่ยงเกิดน้ำท่วม และ 2.ระดับควบคุมตอนล่าง หรือ “Lower Rule Curve” (LRC) เพื่อรักษาระดับน้ำไม่ต่ำเกินไปจนเสี่ยงภัยแล้ง

เขื่อนไทยเสี่ยงแตกแค่ไหน ?

เมื่อถามว่าเมื่อเทียบเขื่อนดินของไทย เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ กับเขื่อนดินในลาว มีความเสี่ยงแค่ไหน ? ศ.สุวัฒนา ตอบว่า ผู้รับผิดชอบโครงการ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ยืนยันว่าเขื่อนมีความแข็งแรง ส่วนปริมาณน้ำที่สูงเกิน 80% ของความจุนั้น เชื่อว่าไม่เป็นปัญหา เพราะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่รองรับน้ำได้อีกเป็นหมื่นล้าน ลบ.ม. 

เทียบกับเขื่อนขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน เขื่อนนี้ถือว่าเป็นเขื่อนขนาดยักษ์ เขามีการตรวจสอบเข้มงวด

ขณะที่ ผศ.สิตางศุ์ ระบุว่า สถานการณ์เขื่อนไทยไม่น่าเป็นห่วง เพราะคำว่า “เขื่อนแตก” ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เนื่องจากมีการตรวจสอบเป็นประจำ ยิ่งมีข่าวเขื่อนแตกในประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งต้องมีการตรวจสอบรัดกุมยิ่งขึ้น

 

ส่วนข่าว “เขื่อนแตก” ในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา นักวิชาการเห็นตรงกันว่า เป็นเขื่อนขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ถูกออกแบบเพื่อใช้เฉพาะกิจ เช่น เก็บกักน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค โดยออกแบบและก่อสร้างใช้เพียงเพียงปีเดียว และไม่มีการสำรวจความพร้อมของพื้นที่ จึงทำให้เขื่อนมีข้อบกพร่องง่าย

ที่น่าเป็นห่วงคือเขื่อนขนาดเล็ก ส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น ซึ่งไม่มีการอัพเดทข้อมูลเท่าที่ควร จึงยากต่อการติดตามปริมาณน้ำ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะนำเขื่อนเหล่านี้กลับมาให้กรมชลประทานดูแลหรือไม่ เพราะผู้รับผิดชอบเขื่อนต้องมีศักยภาพและความพร้อม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง