สดร.ชวนดู "ฝนดาวตก" วันแม่เฉลี่ย 110 ดวงต่อชั่วโมง

Logo Thai PBS
สดร.ชวนดู "ฝนดาวตก" วันแม่เฉลี่ย 110 ดวงต่อชั่วโมง
สดร.ชวนชมฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือ “ฝนดาวตกวันแม่” หลังเที่ยงคืนวันที่ 12 ส.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 03.00 น. ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 ส.ค.นี้ คาดตกสูงสุด 110 ดวงต่อชั่วโมง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

วันนี้ (8 ส.ค.2561) นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. กล่าวว่า ในช่วงคืนวันที่ 12 ส.ค.-13 ส.ค.นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์หรือ “ฝนดาวตกวันแม่” คาดว่าปีนี้ มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 110 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอัส สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 12 ส.ค.นี้เวลา 03.00 น.จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 ส.ค.นี้โดยคืนดังกล่าวยังตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 1 ค่ำ ส่งผลให้ท้องฟ้าไร้แสงจันทร์รบกวนเหมาะสำหรับการสังเกตการณ์ฝนดาวตก หากฟ้าใสปลอดเมฆสามารถดูด้วยตาเปล่าได้ทุกพื้นที่ทั่วไทย

และควรเลือกสถานที่โล่งแจ้ง ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวน จะสังเกตเห็นดาวตกที่มีความสว่างและสวยงามไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ดูได้ด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ การชมฝนดาวตกให้สบายที่สุดอาจใช้วิธีนอนรอชม หรือนั่งบนเก้าอี้ที่เอนนอนได้ โดยฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศแถบซีกโลกเหนือ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่วงฤดูร้อน ส่วนประเทศไทยตรงกับช่วงฤดูฝนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสังเกตการณ์

จึงต้องลุ้นกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ยกเว้นบริเวณภาคใต้ตอนล่างฝนตกค่อนข้างน้อยเป็นโอกาสดีที่จะได้ชื่นชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น

สำหรับการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ต้องรอถึงช่วงหลังเที่ยงคืน ส่วนช่วงหัวค่ำยังมีดาวเคราะห์ที่น่าสนใจให้ชมเช่นกัน ทั้งดาวศุกร์ที่สุกสว่างทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ ดาวอังคารสีส้มแดงสว่างชัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงอยู่ในช่วงใกล้โลก ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี

นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าวจะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศเกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า ถือเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับ 2 รองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ ที่มีสีสันสวยงามสังเกตเห็นได้ช่วงระหว่างวันที่ 17 ก.ค. - 24 ส.ค.ของทุกปี

โดยช่วงประมาณวันที่ 12- 13 ส.ค.นี้ จะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด คนไทยจึงนิยมเรียกฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ว่า “ฝนดาวตกวันแม่” เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และวันแม่แห่งชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง